งาน “วิจัย” เชิงวิชาการ ความยาว 300 หน้า ที่มีสาระสำคัญต่อการขับเคลื่อนประเทศ ทั้งด้านการปฏิรูปการศึกษา การวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจ
รวมทั้งการตรวจสอบคอร์รัปชั่น แม้จะเป็นงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม แต่นับเป็นเรื่อง “ยากและท้าทาย” ของนักวิจัย “ทีดีอาร์ไอ” ในยุคนี้ ที่ต้องทำหน้าที่ “ย่อย” ข้อมูลวิชาการให้ “ประชาชน” ทั่วไปเข้าใจ “ข้อมูล” ที่ต้องการสื่อกับสังคม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น
ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ที่ปรึกษาประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ด้านการจัดการความรู้และการสื่อสารสาธารณะ กล่าวว่าด้วยบทบาทของ ทีดีอาร์ไอ ที่เป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 ทำหน้าที่วิจัยเชิงนโยบายในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานระหว่างประเทศ รวมทั้งริเริ่มการวิจัยเอง เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยให้เป็นนโยบายที่เอื้อต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ
ทีดีอาร์ไอ จึงเปรียบได้กับ “คลังข้อมูล” ทางสังคมและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ แต่ด้วยงานวิจัยเชิงวิชาการความยาว 200- 300 หน้าต่อผลงาน อีกทั้งแต่ละงานเข้าข่าย “เข้าใจยาก” สำหรับคนทั่วไป ทำให้งานวิจัยที่ทุ่มเทจัดทำขึ้น ได้รับความสนใจเฉพาะกลุ่มนักวิชาการ และผลงานต่างๆ มักจะเดินทางไปอยู่ในห้องสมุด รอผู้ที่สนใจมาสืบค้นข้อมูลที่ต้องการรู้ หรือเรียกว่าผลงานจำต้องเดินทางไป “ขึ้นหิ้ง”
สวมบทนักสื่อสาร
หลังจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ขึ้นมาเป็นประธาน ทีดีอาร์ไอ ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้มีการยกเครื่องรูปแบบ “การสื่อสาร” งานวิจัยต่างๆ ของทีดีอาร์ไอใหม่ ด้วยเห็นตรงกันว่างานวิจัยแต่ละชิ้นใช้เวลาดำเนินการ 1-2 ปี ใช้ทรัพยากรพอสมควรทั้งเวลาและงบประมาณ นักวิจัยทุ่มเททำงานอย่างหนัก งานวิจัยที่จัดทำขึ้นให้กับผู้ร่วมโครงการและนักวิชาการได้อ่าน เพียงแค่นั้นถือว่ายังใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่
ดังนั้น “ทีมจัดการความรู้และการสื่อสารสาธารณะ” จึงเกิดขึ้น เพื่อทำหน้าที่นำความรู้จากงานวิจัยที่มีอยู่ มาจัดการใหม่ พร้อมพัฒนาช่องทางการเผยแพร่ผ่าน “สื่อ” ในยุคดิจิทัล เครื่องมือที่สามารถดำเนินการได้เอง และเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปเพิ่มขึ้น จากจำนวนประชากรออนไลน์ขยายตัวสูง
การทำงานของทีมฯ คือการนำงานวิจัยและความรู้มาบริหารจัดการและแปลงข้อมูลต่างๆ เพื่อสื่อสารกับกลุ่มต่างๆ ทำให้ “เข้าใจสาระได้ง่ายๆ” ซึ่งปัจจุบันมีการสื่อสารหลายๆ ช่องทาง ทั้ง “เว็บไซต์” โซเชียลมีเดีย มัลติมีเดียต่างๆ ซึ่งแต่ละช่องทางจะมีจุดเด่นต่างกัน ดังนั้นรูปแบบการ “ย่อย” ข้อมูลผ่านการเล่าเรื่องราวต่างๆ ของงานวิจัย จึงทำได้หลากหลายแบบ
กระบวนการย่อยงานวิจัยที่ทีมฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เริ่มจากการนำงานวิจัยขนาด 300 หน้า มาคัดกรองข้อมูลขนาดย่อในรูปแบบ TDRI Factsheet ขนาด 4 หน้า เพื่อนำเสนอต่อสื่อมวลชน พร้อมนำเสนอในรูปแบบ “อินโฟ กราฟฟิก” ที่เข้าใจง่าย เป็นอีกชิ้นงานการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น เพื่อกระตุ้นความสนใจและจุดกระแสสังคม ให้เกิดการรับรู้ต่อผลงานวิจัย เกิดการบอกต่อและนำไปสู่ความร่วมมือในการขับเคลื่อนสังคมในทิศทางที่ถูกต้อง
TDRI ยุคมัลติมีเดีย
เมื่อช่องทางการสื่อสารมีหลากหลายในยุคดิจิทัล การนำเสนอผลงานวิจัย จึงไม่จำกัดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป “ทีดีอาร์ไอ” ในยุคมัลติมีเดีย จึงต้องตอบโจทย์คนทั่วไปในยุคที่สื่อออนไลน์ขยายตัวสูง ผลักดันให้กลุ่มประชากร
ออนไลน์จากกลุ่มเฉพาะ กลายเป็นกลุ่มที่มีขนาดใหญ่และกลายเป็นแมสในยุคนี้ ที่สามารถเข้ามาค้นหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ tdri.or.th
โดยมีฟังก์ชัน “มัลติมีเดีย” นำเสนอข้อมูลงานวิจัย ในรูปแบบ “สถานีทีดีอาร์ไอ” หรือ TDRI Channel ที่จะมีการบอกเล่าเรื่องราวที่มา ที่ไป ผลของงานวิจัย แบบย่อๆ ให้เข้าใจง่ายภายในเวลา 10 นาที พร้อมหลากหลายประเด็นที่น่าสนใจกับนักวิจัยของทีดีอาร์ไอ รวมทั้งการนำเสนอเสวนาสาธารณะ ที่อยู่ในกระแสสังคม
พร้อมใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดีย ทั้งแฟนเพจเฟซบุ๊ค www.facebook.com/tdri.thailand และทวิตเตอร์ @TDRI_thailand มาเสริมทัพ วัดกระแสการตอบรับในประเด็นและคอนเทนท์ต่างๆ ที่งานวิจัยทีดีอาร์ไอนำเสนอ
“เมื่อเทคโนโลยีเอื้ออำนวย เรา(นักวิจัย)ต้องเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหาผู้รับสาร ไม่ใช่ทำงานวิจัยไว้ในห้องสมุด อีกทั้งสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวสื่อสารได้เอง และเช็คกระแสความสนใจจากเครือข่ายสังคมออนไลน์”
ปัจจุบันนักวิจัยจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้รับสาร ด้วยว่ามีการรับสารแบบไหน และสนใจเรื่องอะไร พร้อมวางแผนและยุทธศาสตร์ในการสื่อสารผ่านเครื่องมือต่างๆที่สามารถดำเนินการได้ นอกเหนือจากความร่วมมือกับสื่อมวลขนแขนงต่างๆ
ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันความรู้ ที่ต้องให้บริการวิชาการกับสังคม มีบทบาทหน้าที่สื่อสารความรู้ไปสู่สาธารณะ
หน้าที่การสอนหนังสือในสถาบันต่างๆ ผู้รับสาร(นักศึกษา) แต่ละชั้นเรียนมีจำนวนหนึ่ง แต่การสื่อสารความรู้สาธารณะผ่านช่องทางสื่อต่างๆ คือการคุยกับสังคม และมีคนที่กระหายความรู้มหาศาลในสังคม เมื่อทีดีอาร์ไอมีคลังความรู้จำนวนมากที่สะสมมาเป็นเวลานาน ก็ควรทำหน้าที่สื่อสารกับสังคมมากขึ้น ผ่านเทคโนโลยีในโลกดิจิทัล
การสื่อสารเชิงนโยบายให้ถึงคนหมู่มาก นักวิจัยหรือนักเศรษฐศาสตร์ที่ต้องสวมบทบาทนักสื่อสาร “ถือเป็นมิติใหม่ที่ท้าทาย” ในการให้ความรู้กับสังคม ซึ่งควรมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลเหล่านั้น
เพราะงานวิจัยถือว่าเป็น “สินค้าสาธารณะ” หากผู้คนเข้าถึงงานวิจัยจำนวนมาก ย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้วิจัยและประเทศชาติ
พัฒนาช่องทาง’สื่อสาร’กระตุ้นสังคมขับเคลื่อน
เดิมงานวิจัยในมุมที่เป็นวิชาการ จะอยู่ในสภาพที่มีนักวิชาการที่สนใจในเรื่องต่างๆ นั่งอ่านกันเองในห้องสมุด เมื่องานวิจัยเชิงนโยบาย ที่บอกเล่าข้อมูลจากการศึกษา และหวังสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้สังคม ยังไม่ได้รับความสนใจจากคนหมู่มากในสังคม อีกทั้งยังไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากนโยบายที่จะส่งผลกระทบในสังคม …การขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงย่อมทำได้ยาก
พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ เจ้าหน้าที่งานจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าสถาบันฯได้มีการปรับรูปแบบกระบวนการสื่อสารใหม่ในการนำเสนอผลงานวิจัย ที่มุ่งเข้าถึง”คนกลุ่มใหญ่” โดยใช้ภาษาง่ายๆ นำเสนองานอินโฟ กราฟฟิค ขนาดย่อ เพื่อเป็นกุญแจหรือหน้าต่างบานแรก “เปิดประเด็น” กระตุ้นความสนใจในงานวิจัยชิ้นนั้น สร้างกระแสให้คนในสังคมต้องการรู้เพิ่มขึ้น และเริ่มเข้าสู่ข้อมูลในระดับที่ลึกขึ้น เช่น เข้าสู่เว็บไซต์ ดูข้อมูลผ่าน ทีดีอาร์ไอ แชนแนล ตามต่อด้วยหนังสือ หรืองานวิจัยฉบับเต็ม
จุดเด่นของการนำเสนองานวิจัยผ่าน “นักวิจัย” ผ่านช่องทางสื่อสารมัลติมีเดีย ของทีดีอาร์ไอ มีข้อดีที่”ข้อความ” ที่ต้องการสื่อ “ไม่ผิดและสามารถเลือกวาระสำคัญที่ต้องการสื่อสารได้
ปัจจุบันมีการปรับโฉมเว็บไซต์ทีดีอาร์ไอให้ทันสมัยและไดนามิกมากขึ้น พร้อมใช้โซเชียลมีเดียช่วยขยายผล ในแต่ละหัวข้อของผลงานวิจัย ซึ่งพบว่า จากยอด”แชร์-ไลค์-คอนเม้นต์” ในแต่ละช่องทางเพิ่มขึ้น”เท่าตัว” นับตั้งแต่ ต.ค.ที่ผ่านมา และล่าสุดคือการขยายผลผ่านสื่อ “อินโฟ กราฟฟิค” ที่มาจากฐานข้อมูลที่สืบค้นตามหลักการวิชาการ น่าเชื่อถือ และเข้าใจง่าย
“การเปลี่ยนแปลงประเทศไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ได้อยู่ที่คนเพียงกลุ่มเดียว แต่จะต้องขับเคลื่อนผ่านเครือข่ายสังคม ดังนั้นทีดีอาร์ไอจึงเพิ่มบทบาทด้านการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ที่มีอยู่ เพื่อเป็นอีกแรงสำคัญให้สังคมสนใจ”
ภายใต้”โจทย์ของประเทศไทย” ที่กำหนดให้เป็นภารกิจของทีดีอาร์ไอในการขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์ 4 ประเด็น คือ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจประเทศและการสร้างนวัตธรรมทางธุรกิจ 2.การปฏิรูปการศึกษาเพื่อตอบโจทย์อนาคตประเทศไทย 3. การต่อต้านคอร์รัปชั่น และ 4.การวิเคราะห์ฐานะการคลัง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจจากวิกฤติภายนอกประเทศ
โจทย์สำคัญดังกล่าวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยมานาน แต่ไม่ได้รับความสนใจแก้ไข “ทีดีอาร์ไอ” จึงต้องการเข้ามาจุดกระแสให้เกิดความสนใจ และร่วมกันขับเคลื่อนสังคมไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 16 เมษายน 2556 ในชื่อ นักวิจัย’ทีดีอาร์ไอ’สวมบท’นักสื่อสาร’ยุคดิจิทัล