tdri logo
20 ธ.ค. 2019
Read in Minutes

Views

‘3 เหตุผล’ ถึงเวลาไทยต้องลงนาม ‘ILO 87 และ 98’

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
          ราตรี ประสมทรัพย์

การสั่งตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) ของไทยโดยสหรัฐ จุดประเด็นให้ไทยต้องเอาจริงกับการลงนามในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 อีกครั้ง เพราะไทยยัง ไม่ยอมรับอนุสัญญา ILO ดังกล่าว ทำให้ทั้งลูกจ้างไทยและต่างด้าวเสียสิทธิและเสียประโยชน์

ย้อนหลังไปในปี 2557 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีความพยายามไม่น้อยในเรื่องการปฏิรูปปรับปรุงการคุ้มครองแรงงานไทยและต่างด้าว แก้ปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อให้พ้นจากการเฝ้าจับตาจากสากล ทั้งรายงานการค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมายจนสามารถปลดล็อกทั้งบัญชีรายงานการค้ามนุษย์และใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายได้สำเร็จ

แต่ประเด็นสำคัญในมุมมองของสากลและกลุ่มเครือข่ายแรงงานของไทยคือ ทำไมไทยจึงยังไม่ผลักดัน หรือยอมรับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ที่เป็นหลักประกันการรับรองสิทธิลูกจ้างทั้งไทยและต่างด้าวให้จัดตั้ง รวมตัว และต่อรองกับนายจ้างได้ หรือการจัดตั้ง “สหภาพแรงงาน” ซึ่งทั้งเครือข่ายแรงงานไทยและต่างประเทศต่างมีความพยายามผลักดันมามากกว่า 20 ปี จนถูกหยิบมาเป็นสาเหตุที่จะทำให้ไทยถูกตัดสิทธิพิเศษจีเอสพี

หากพิจารณาทบทวนถึงผลดี-เสียในด้านความมั่นคง สังคม และเศรษฐกิจแล้ว ผู้เขียนมองว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยควรให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ด้วยเหตุผลสำคัญ 3 ประการ

1.เพื่อยกระดับสิทธิพื้นฐานของแรงงานตามมาตรฐานสากล

การไม่ยอมรับอนุสัญญาดังกล่าวทำให้ที่ผ่านมาสัดส่วนสหภาพแรงงาน และสมาชิกสหภาพแรงงานมีน้อยมาก คิดเป็นสัดส่วน 3.62% เมื่อเทียบกับแรงงานในระบบกว่า 17 ล้านคน มีสหภาพ 1,400 แห่ง สมาชิก 6.1 แสนคน แต่แรงงานในระบบมีถึง 17.11 ล้านคน แต่มีแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานอีก 21.7 ล้านคน หรือ 50%

สำหรับสหภาพแรงงานที่มีอยู่โดยทั่วไปนั้น แรงงานไทยจะทำหน้าที่เป็นแกนนำหารือเจรจากับนายจ้างแทนแรงงานต่างด้าว ทำให้ที่ผ่านมาสิทธิบางอย่างของแรงงานต่างด้าวยังไม่เท่าเทียม หรือเผชิญข้อจำกัด เช่น สิทธิประกันสังคม หรือเงินสะสมในกองทุนประกันสังคม เป็นต้น

ทั้งที่โดยหลักการแล้วการยินยอมให้มีการ รวมตัวเรียกร้องหรือจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้น เป็นสิทธิที่แรงงานพึงมีก่อนมีกฎหมายรองรับ อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

2.การจัดระเบียบปรับปรุงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวมีประสิทธิภาพมากเพียงพอ

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีความชัดเจนและมุ่งมั่นจัดระเบียบการขึ้นทะเบียน การขอวีซ่า ขอใบอนุญาตของแรงงานต่างด้าว จนทำให้สถานการณ์การเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าวมีสัดส่วนเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมายมากขึ้น

ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ระบุว่าเดือน ก.ย.2562 มีแรงงานต่างด้าวประเภททั่วไปที่เข้ามาทำงานในไทย จำนวน 3,222,150 คน โดยเป็นแรงงานที่ได้รับการอนุญาตหรือมีหนังสือเดินทางตามกฎหมายจำนวน 1,747,723 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการได้รับการผ่อนผันให้ทำงานตามระยะเวลากำหนด เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตไทยที่มีแรงงานที่ใบอนุญาตหรือถูกต้องตามกฎหมายเพียง 1,626,235 คนเท่านั้น (ข้อมูล ณ เดือน ก.ย.2559)

ความพยายามของรัฐบาล คสช.ทำให้แรงงานต่างด้าวได้ทำงานอย่างถูกกฎหมายนี้ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจและมั่นคงให้รัฐเปิดกว้างยอมรับการลงนามอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพราะเมื่อรัฐบาลมีความยินดีเปิดกว้างให้แรงงานเข้ามาทำงานเป็นการช่วยสร้างผลิตภาพและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้กับประเทศแล้ว ไทยก็จำเป็นต้องเคารพสิทธิ ความเท่าเทียมของแรงงานเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

3.ผลประโยชน์ระยะยาวสำหรับนายจ้างและประเทศ

สำหรับนายจ้าง การลงนามในอนุสัญญาจะช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ในปัจจุบัน และอนาคตที่มีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น จากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ

ระดับประเทศ การลงนามเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ เนื่องจากช่วยปรับสถานะไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็น ตัวอย่างไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม การให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว อาจจะมีผลกระทบในทางลบต่อประเทศคือความมั่นคงของชาติอยู่บ้าง แต่การเรียกร้องดังกล่าวก็เป็นไปตามสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและการไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งประเด็นนี้ฝ่ายความมั่นคงของชาติน่าจะสามารถดูแลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกองกำลังของชาติอยู่เป็นจำนวนมาก

ด้วย 3 เหตุผลนี้ผู้เขียนมองว่ารัฐบาลควรส่งสัญญาณให้ชัดเจนในการร่วมให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพราะหากล่าช้าไปกว่านี้จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ไม่ว่าจะเป็นภาพลักษณ์ของประเทศ การถูกตัดสิทธิจีเอสพี ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างมากกว่าผลทางด้านความมั่นคงของชาติและด้านสังคมที่รัฐบาลให้ความกังวลอยู่ในขณะนี้

(ขอขอบคุณ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา (คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท) รายงานเรื่อง “อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ทำไมต้องให้สัตยาบัน?” สำหรับเป็นพื้นฐาน ในการเตรียมบทความฉบับนี้)

หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกใน กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ พฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม 2562

นักวิจัย

ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน
ราตรี ประสมทรัพย์
ผู้ประสานงานโครงการ

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด