tdri logo

Notice: Undefined offset: 0 in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 229

Notice: Trying to get property 'term_id' of non-object in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 241
8 มี.ค. 2013
Read in Minutes

Views

นิตยสารสารคดี: นับถอยหลัง 3G กับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์

วิจิตต์ แซ่เฮ้ง : ถ่ายภาพ

ที่มาภาพ: เว็บไซต์สารคดี
ที่มาภาพ: เว็บไซต์สารคดี

แล้วในที่สุด คำพูดตัดพ้อเชิงประชดเสียดสีว่า “รักแท้เหมือน 3G รู้ว่ามีแต่ไม่รู้เมื่อไหร่มา” ก็กำลังจะใช้กับสังคมไทยไม่ได้อีกต่อไป

ภายหลังจากปลุกปั้นกันมานานร่วม ๑๐ ปี

“ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ ๓” จึงเกิดขึ้น

3G เป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูง มีความสามารถในการรับส่งข้อมูลทั้งภาพ เสียง ไฟล์วิดีโอ ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเจเนอเรชั่นเดิมถึง ๓๕ เท่า ช่วยให้การทำงานหรือศึกษาหาความรู้ที่ไม่เคยทำได้มาก่อนเป็นไปได้ทันใจทุกที่ทุกเวลา

ทว่าที่ผ่านมาเส้นทางสู่ 3G มีอุปสรรคปัญหามากมายเหลือเกิน สองปีก่อน (พ.ศ. ๒๕๕๓) ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำพิพากษาระงับการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการ 3G ของ “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” เพื่อเปิดทางให้จัดตั้ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. ความล่าช้าทำให้ไทยกลายเป็นประเทศลำดับท้าย ๆ ของโลกที่จะมี 3G ใช้

โดยก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการแก้ปัญหาการไม่มี 3G ด้วยการแบ่งคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิมมาให้บริการรับส่งข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต จนทำให้คุณภาพบริการโดยรวมลดลง

จนเมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ กสทช. องค์กรอิสระซึ่งจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๕๓ ก็ได้ปฏิบัติ “ภารกิจเพื่อชาติ” จัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน ๒.๑ เมกะเฮิร์ตซ์เพื่อให้บริการ 3G เป็นผลสำเร็จ

เป็นการประมูลที่เต็มไปด้วยข้อกังขา เมื่อ “โอเปอเรเตอร์” ยักษ์ใหญ่ทั้ง ๓ ต่างจูงมือกัน “เข้าวิน” แบบไม่ต้องลุ้น ทันทีที่ทราบผลประมูล นักวิชาการออกมา “ปูพรมถล่ม” ชี้ว่านี่เป็นการประมูลที่น่าขันที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ บ้างก็ว่านี่เป็นละครฉากที่ไม่เนียนเอาเสียเลย

แต่ถึงจะเต็มไปด้วยข้อกังขาอย่างไร สายพานแห่งเทค-โนโลยีที่นำพาประเทศสู่ยุค 3G ก็เดินหน้าต่อ

นาทีนี้ยากปฏิเสธ ทุกคนล้วนต้องการให้ประเทศเข้าสู่ยุค 3G แล้ว

ท่ามกลางฝุ่นควันที่ยังไม่ทันจาง เพียงมองเห็นฉากหลังชัดเจนขึ้นบ้าง นอกเหนือจากคำถามใหญ่เรื่องความไม่ชอบมาพากลของการประมูล ยังมีอีกหลายสิ่งน่าพูดถึง สิ่งหนึ่งที่ซ้อนทับอยู่กับจุดเปลี่ยนผ่านแห่งยุคสมัย คือการปฏิรูปสัญญาที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมเป็นครั้งแรก จากระบบ “สัมปทาน” ที่เหมือนแผลเก่ากลัดหนอง สู่การออก “ใบอนุญาต” ที่ว่ากันว่าจะนำพาประเทศสู่ยุคเสรีกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

สารคดี จึงขอนำเสนอบทสัมภาษณ์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) นักวิชาการผู้จบปริญญาโทและเอกด้านปัญญาประดิษฐ์จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น แล้วกลับมาสร้างชื่อด้วยผลงานวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองเกี่ยวกับปัญหาการแปรสัญญาโทรคมนาคมด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ (Econometrics) และที่สำคัญเขาคืออดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมาย กสทช. ทั้งในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

ลองอ่านบทสัมภาษณ์ของเขา แล้วผู้ที่คิดว่ามหากาพย์ 3G ได้สิ้นสุดลงแล้วอาจต้องคิดใหม่

ขออภัยที่ขึ้นเรื่องด้วยคำว่า “แล้วในที่สุด” เพราะแท้จริงเรื่องราวเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นต่างหาก

การประมูลคลื่นความถี่เพื่อเปิดให้บริการ 3G เมื่อวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ มีอะไรที่เป็นปัญหา
ปัญหาคือมันไม่มีการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นหัวใจของการประมูล มีเพียงการแข่งขันเทียม ๆ เมื่อคุณเล่นเกมเก้าอี้ดนตรี คุณมีเก้าอี้ ๓ ตัว ผู้เล่น ๓ คน ทุกคนย่อมได้เก้าอี้ไป งานนี้ กสทช. เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ที่มีอยู่ ๔๕ เมกะเฮิร์ตซ์ โดยออกกฎว่าจำนวนคลื่นสูงสุดที่ผู้เข้าประมูลแต่ละรายสามารถประมูลได้ต้องไม่เกิน ๑๕ เมกะเฮิร์ตซ์ เมื่อมีผู้เสนอราคา ๓ ราย คือ เอไอเอส ดีเทค และทรูมูฟ ทุกรายจะได้คลื่นเท่ากัน แล้วจะดิ้นรนประมูลเพื่ออะไร

ปัญหารองลงมาคือเมื่อเห็นอยู่แล้วว่าไม่มีการแข่งขัน ยังตั้งราคาประมูลขั้นต่ำไว้ถูก ๆ คุณก็ได้ราคาตามที่ตั้งเท่านั้นเอง ผลคือราคาประมูลคลื่นความถี่ 3G ครั้งนี้ดีดขึ้นมาเพียงเล็กน้อย ประมาณ ๒ เปอร์เซ็นต์จากราคาขั้นต่ำ การประมูลครั้งนี้จึงถือว่าแย่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลกเลยก็ว่าได้

เมื่อการประมูลมีปัญหา สิ่งที่ตามมาจะเป็นปัญหาด้วยหรือไม่ เหมือนดั่งคำกล่าวเรื่องผลไม้พิษกับต้นไม้พิษ
ตั้งแต่ทราบผลการประมูล รัฐเสียหายทันทีแล้ว ๑๖,๐๐๐ ล้านบาท เป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขายที่ประเมินไว้ล่วงหน้ากับราคาซื้อขายจริงที่เกิดขึ้น แล้วสิ่งที่ กสทช. พยายามอ้างว่าเงินที่หายไปเข้ากระเป๋าโอเปอเรเตอร์ (ผู้ให้บริการ 3G) เงินนี้จะกลับมาเข้ากระเป๋าผู้บริโภคในรูปแบบของการลดราคา คุณลองดูความเป็นไปได้ของการต่อรองนี้สิ เอกชนจะลดราคาไหม เมื่ออ้อยเข้าปากช้าง อย่างตอนนี้ พอถูก กสทช. ไล่บี้หนักเข้าหน่อยก็บอกว่าไม่แน่ ขอไปพิจารณาก่อน อ้างต้นทุนสารพัด ฉะนั้นความเสียหายออกพิษแล้ว และจะตามมาอีกในการประมูล 4G คือเขาจะอ้างว่าขนาด 3G ก็ยังทำกันแบบนี้ จะขอใช้สูตรเดิมในการประมูล 4G อีก คือมีเก้าอี้ดนตรี ๓ ตัว มีคน ๓ คน หรือถ้ามีเก้าอี้ ๒ ตัวก็มีคน ๒ คน เอกชนจะได้ประโยชน์ไปเรื่อย ๆ ประชาชนจะไม่ได้อะไร

พิษที่ชัดเจนที่สุดสำหรับผู้บริโภคคืออะไร
ประชาชนทั้งคุณและผมมี ๒ ฐานะ หนึ่งคือเป็นผู้บริโภคหมายถึงเป็นผู้ใช้โทรศัพท์ ในมุมนี้ปัญหาไม่ชัดนัก ดูเหมือนคนไทยทั้งประเทศจะบอกว่ารอไม่ได้ ขอให้มี 3G ใช้ก่อน อีกฐานะหนึ่งเป็นฐานะของผู้เสียภาษี หากรัฐบาลนำบ่อน้ำมันของชาติไปขายในราคาถูก ขายป่าไม้ขายเหมืองแร่ราคาถูก นำทรัพยากรที่มีมูลค่าไปขายในราคาต่ำกว่ามาตรฐาน อย่างนี้ถือว่าเสียหายครับ คลื่นความถี่ก็เหมือนกัน มันเป็นขุมทรัพย์ ในฐานะที่เราเป็นผู้เสียภาษีให้แก่รัฐ หากรัฐบาลปิดหีบไม่ลงเพราะรายได้ที่ควรจะได้หายไปเป็นหมื่นล้านบาท มันก็ต้องไปหาจากที่อื่นมาชดเชย ประเดี๋ยวก็ต้องหาทางเก็บภาษีเพิ่มเติม นี่คือสิ่งที่ประชาชนจะได้พบ

วกกลับไปในฐานะของผู้บริโภค การออกใบอนุญาต 3G โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตลาดถือเป็นความเสียหายที่สุด หมายความว่าในยุค 2G คุณมีผู้ให้บริการ ๓ ราย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรูมูฟ ถึงยุค 3G คุณก็มี ๓ รายอีก ถึงยุค 4G ก็ยังมี ๓ รายอีกเหมือนเดิม กรณีอย่างนี้มีแนวโน้มว่าผู้บริโภคจะไม่ได้รับในสิ่งที่ดีที่สุด คุณต้องเปิดตลาดแบบเสรีให้มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาตัดราคาหรือทำให้คุณภาพบริการดีขึ้น เพื่อให้ผู้เล่นหน้าเก่าหยุดนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้ แต่ต้องคอยพัฒนาตัวเอง

ที่มาภาพ: เว็บไซต์สารคดี
ที่มาภาพ: เว็บไซต์สารคดี

มีงานวิจัยหรือไม่ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศหนึ่งควรมีสักกี่ราย
ประมาณ ๓-๕ ราย แต่ที่สำคัญคือประตูต้องเปิด  สมมุติว่าคุณเป็นผู้ประกอบการที่ยังไม่ได้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย  เห็นโอเปอเรเตอร์ในประเทศไทยคิดราคาแพง คุณรู้แล้วว่าได้กำไรเยอะ ก็อยากจะเข้ามาทำตลาด โดยต้องเริ่มจากการตัดราคา ซึ่งถ้าประตูเปิดอยู่ตลอดเวลาคุณสามารถเข้ามาได้  ดังนั้นแม้จะมีผู้ให้บริการอยู่แค่ไม่กี่ราย  แต่ละรายก็ไม่กล้าเอาเปรียบผู้บริโภคมากนัก  ราคาค่าบริการก็จะไม่สูงมาก  กลับกันหากประตูปิดตายตลอดเวลาเหมือนอย่างเมืองไทยตอนนี้  ผู้เล่นหน้าเดิมก็อุ่นใจว่าไม่มีใครเข้ามาแล้ว ก็ฟันราคากันตามสบาย

อนาคตข้างหน้าหากมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามา จะมีคุณสมบัติเป็นอย่างไร
คงเป็นบริษัทต่างชาติ หรือคนไทยที่ร่วมทุนกับต่างชาติ  วันนี้เศรษฐีไทยที่มีเงินเป็นหมื่นล้านทำมือถือได้มีอยู่ไม่กี่ตระกูล  ตระกูลชินวัตร เบญจรงคกุล เจียรวนนท์ ทำไปแล้ว  ตระกูลที่เหลือก็ใช่ว่าจะสนใจธุรกิจนี้ ยิ่งรู้กันว่าเป็นธุรกิจที่ปิดประตูตีแมวกันมานาน  หน้าใหม่แม้ว่าจะมีสตางค์ แต่พอมองออกว่ามันคลุมเครือ ไม่โปร่งใส เข้ามาใหม่ก็ต้องเจอรับน้อง ก็ไม่กล้าเข้ามา

ยกตัวอย่างเรื่องราคา  ถ้าวันนี้ผมเป็นผู้เล่นหน้าใหม่  ผมเริ่มต้นจากไม่มีสมาชิกเลยสักราย  ผมจะหาสมาชิก เริ่มต้นก็ต้องโฆษณาหาสมาชิกว่า “ถึงคุณเปลี่ยนมาใช้บริการของผม คุณก็ยังโทร.หาลูกค้าของเจ้าเก่าทั้ง ๓ รายได้ครบหมดนะ” แต่ทุกวันนี้เจ้าเก่าทั้ง ๓ เจ้าเขากำหนดไว้แล้วว่าถ้ามีใครโทร.หาข้ามเครือข่ายมาที่เครือข่ายของเขา เขาต้องเก็บนาทีละ ๑ บาท  แล้วผมจะตัดราคาให้ถูกลงได้อย่างไร  จะเก็บจากผู้บริโภคเหลือนาทีละ ๕๐ สตางค์ได้ไหม  มันไม่ได้  เพราะถ้าเก็บ ๕๐ สตางค์แล้วลูกค้าผมโทร.ไปหาอีกเครือข่าย ผมต้องจ่าย ๑ บาท ผมขาดทุน  แล้วถ้าเก็บต่ำกว่า ๑ บาทไม่ได้ ผมจะแย่งลูกค้าของเจ้าเก่ามาได้อย่างไร  ด้วยเหตุนี้ภายใต้ระบบที่กำลังใช้อยู่ ผู้เล่นหน้าใหม่นี่ตายอย่างเขียดเลย

แก่นของปัญหาในกิจการโทรคมนาคมนั้นมีที่มาอย่างไร
ย้อนกลับไปยุคที่ประเทศไทยยังมีแต่โทรศัพท์บ้าน  ตอนนั้นกิจการโทรคมนาคมไทยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมไปรษณีย์โทรเลข, องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือทีโอที, และการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ กสท. ซึ่งขึ้นกับกระทรวงคมนาคม (ขณะนั้นกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดูแลทั้งกิจการด้านการขนส่ง โทรคมนาคม และวิทยุสื่อสาร) ตอนนั้นตาม พ.ร.บ.องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ๒๔๙๗ ระบุว่าองค์การโทรศัพท์ฯ เท่านั้นที่ให้บริการโทรศัพท์ได้ แต่องค์การโทรศัพท์ฯ ก็ไม่สามารถทำให้โทรศัพท์บ้านแพร่หลายไปได้อย่างที่ควรจะเป็น  มีรายชื่อคนเข้าคิวรอขอให้ต่อสายโทรศัพท์บ้านตกค้างเต็มไปหมด  และถ้าคุณอยู่ไกลหรือไม่มีเส้นสายอาจจะต้องรอนาน ๒-๓ ปี  หรือคุณอาจต้องวิ่งเต้นจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้โทรศัพท์มา ตอนนั้นนักการเมืองเริ่มมองเห็นว่าระบบที่มีอยู่เป็นปัญหาจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน เมื่อเข้าสู่ยุคมือถือจึงอยากเอาเอกชนมาช่วยทำ  ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนั้นถ้าเป็นประเทศพัฒนาแล้วเขาจะใช้ระบบ “ใบอนุญาต” ตั้งหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งให้เป็นผู้กำกับดูแล แล้วแก้ไขข้อกฎหมายที่ติดขัด  ถ้ากฎหมายบอกว่าต้องเป็นองค์การโทรศัพท์ฯ หรือหน่วยงานรัฐเท่านั้นที่ทำโทรศัพท์ได้ ก็เพิ่มเข้าไปว่าให้เอกชนทำได้ด้วย  ถ้าตอนนั้นประเทศไทยเลือกวิธีนี้ กิจการโทรคมนาคมของไทยทุกวันนี้จะดีกว่าปัจจุบันเยอะเลย

ปรากฏว่าตอนนั้นนักการเมืองเลือกเดินทางลัด  แทนที่จะแก้ไขกฎหมายที่เป็นปัญหา เปิดเสรีกิจการโทรคมนาคม กลับให้เอกชนคือเอไอเอสเป็นรายแรกที่ได้รับสัมปทาน ร่วมกับองค์การโทรศัพท์ฯ ดำเนินกิจการในนามของรัฐ  ผลประกอบการให้เอามาแบ่งกัน  ระบบสัมปทานเป็นระบบที่นักการเมืองชอบเพราะทำได้เร็ว ง่าย และไม่ต้องเปิดเสรี เป็นระบบที่เอื้อต่อการวิ่งเต้น เพราะเอกชนที่ได้สัมปทานผูกขาดธุรกิจจะมีผลกำไรมาก โอกาสเรียกเก็บใต้โต๊ะก็มากตามไปด้วย

หลังเอไอเอสซึ่งได้รับสัมปทานให้บริการไประยะเวลาหนึ่ง  รัฐวิสาหกิจอีกแห่งหนึ่งคือ กสท. (ในยุคที่ยังดำเนินกิจการไปรษณีย์และสื่อสาร) ก็มีกฎหมายของตัวเองขึ้นมา ตอนนั้นองค์การโทรศัพท์ฯ บอกว่าตนมีหน้าที่ให้บริการโทรศัพท์  แต่ กสท. ก็บอกว่าการสื่อสารแห่งประเทศไทยมีหน้าที่ให้บริการการสื่อสาร  กสท. ยึดข้อนี้บอกว่าตัวเองมีอำนาจให้บริการสื่อสาร โทรศัพท์มือถือเป็นบริการสื่อสารอย่างหนึ่งเช่นกัน  กสท. จึงมีสิทธิ์ทำโทรศัพท์มือถือได้  แล้ว กสท. ก็เริ่มทำอย่างที่องค์การโทรศัพท์ฯ เคยทำมาก่อน  คือไปหาเอกชนอีกรายหนึ่งมา คือแทคหรือดีแทคในปัจจุบัน  เงื่อนไขของดีแทคและเอไอเอสจึงแตกต่างกัน  เพราะเอไอเอสทำข้อตกลงกับองค์การโทรศัพท์ฯ ส่วนดีแทคทำข้อตกลงกับ กสท. เงื่อนไขแล้วแต่การเจรจาต่อรองจนทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม  เกิดความเหลื่อมล้ำได้เปรียบเสียเปรียบกันขึ้น

อยากให้อาจารย์ช่วยเปรียบเทียบเงื่อนไขที่แตกต่างกันของเอกชนทั้ง ๒ ราย
ตอนนั้นโทรศัพท์มือถือยังเป็นของใหม่  โทรศัพท์บ้านมีใช้แพร่หลายมากกว่า  ลูกค้าเอไอเอสหรือดีแทคที่ซื้อมือถือมาก็อยากให้โทร.เข้าโทรศัพท์บ้านได้  แล้วผู้ที่เป็นเจ้าของเบอร์บ้านใหญ่ที่สุดคือองค์การโทรศัพท์ฯ  ข้อนี้เอไอเอสได้รับประโยชน์เต็ม ๆ เพราะตัวเองเป็นคู่สัมปทาน  องค์การฯ ก็บอกว่าถ้าลูกค้าเอไอเอสโทร.มาผมไม่คิดค่าใช้จ่ายเลย  แต่ถ้าเป็นลูกค้าดีแทคอยากติดต่อเบอร์บ้านต้องเหมาจ่ายเดือนละ ๒๐๐  สาเหตุที่เงื่อนไขออกมาเป็นเช่นนี้เพราะนี่คือระบบสัมปทาน  มันแล้วแต่ใครเจรจาต่อรองกับใคร

เอไอเอสยังได้เปรียบตรงที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ที่ต่ำกว่า ช่วงแรกถึงมีจีเอสเอ็ม ๒ วัตต์ออกมาเพราะคุณภาพสัญญาณชัดกว่าและส่งไปได้ไกล  เรื่องที่ดีแทคได้เปรียบกว่าก็มี เช่น ดีแทคได้คลื่นความถี่มาเยอะกว่ามาก ทำให้ใช้เงินลงทุนปักเสาส่งสัญญาณน้อยกว่า เพราะไม่ต้องปักเสาถี่ ๆ ในพื้นที่เดียวกัน ขณะที่ถ้ามีคลื่นจำกัดหรือคลื่นน้อยจะต้องปักเสาถี่  ต่างฝ่ายต่างได้เปรียบกันคนละแง่มุม

การแก้สัญญาของระบบสัมปทานจะช่วยคลี่คลายปัญหาได้หรือไม่
หลังฝ่ายเสียเปรียบออกมาเรียกร้องว่าอีกฝ่ายหนึ่งได้เปรียบ ก็เกิดแนวคิดที่จะแก้ไขสัญญาเกิดขึ้น  วิธีการคือให้เอกชนแต่ละฝ่ายไปต่อรองกับคู่สัมปทานของตัวเอง เช่นดีแทคไปบอก กสท. ว่าคุณต้องปรับสัญญาให้ฉันนะเพราะฉันสู้กับเอไอเอสไม่ได้  เอไอเอสก็ไปพูดคุยกับองค์การโทรศัพท์ฯ ว่าบางเรื่องของดีแทคดีกว่า คุณต้องปรับสัญญาให้ฉัน  สิ่งที่เกิดขึ้นคือทุกครั้งที่แต่ละฝ่ายแก้สัญญา  เอกชนได้เปรียบขึ้นเรื่อย ๆ  ส่วนรัฐเสียเปรียบขึ้นเรื่อย ๆ  ยกตัวอย่างอายุสัมปทานของเอไอเอสเดิมนาน ๒๐ ปี และได้สิทธิ์ผูกขาด  ต่อมาเมื่อดีแทคและทรูมูฟเข้ามาในตลาด  เอไอเอสก็บอกว่าเขาไม่เอาแล้วสิทธิ์ผูกขาด เพราะถึงแม้องค์การโทรศัพท์ฯ จะให้สิทธิ์เขารายเดียว แต่ กสท. ก็ให้สิทธิ์ดีแทคกับทรูมูฟ  มันไม่ผูกขาดจริง เขาไม่เอาสิทธิ์ผูกขาดแล้วขอยืดสัญญาจาก ๒๐ ปีเป็น ๒๕ ปีแทน เพื่อชดเชยสิ่งที่ขาดไป และขอลดการมอบส่วนแบ่งรายได้  นี่คือการต่อรองสัญญาที่ยิ่งต่อรอง
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็ยิ่งเจ๊ง

การเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 3G ที่รูปแบบของสัญญาเป็นใบอนุญาต (licence) จะมีลักษณะเป็นอย่างไร
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่ารูปแบบของสัญญากับเทคโนโลยีไม่ได้ผูกติดกัน  ตัวสัญญามีได้หลายรูปแบบ เช่น สัญญาเช่า สัญญาซื้อ สัญญาเช่าซื้อ  ระบบสัมปทานถือเป็นสัญญาแบบหนึ่ง ใบอนุญาตก็เป็นสัญญาอีกแบบหนึ่ง  คุณจะเอาสัญญาไปเช่าซื้อมอเตอร์ไซค์หรือรถยนต์ก็ได้ สมมุติว่า 2G เป็นมอเตอร์ไซค์ 3G เป็นรถยนต์  สัญญาแบบไหนมันก็ใช้ได้กับทุกเรื่องนั่นแหละครับ  ไม่ได้หมายความว่ายุค 3G จะต้องเป็นใบอนุญาต เพียงแต่รูปแบบของสัญญากับเทคโนโลยีมาเจอกันสมัยนี้พอดี

ถามว่ารูปแบบของสัญญาเมื่อเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตแล้วจะเป็นอย่างไร  จากเดิม 2G เป็นระบบสัมปทาน ที่มีผู้ให้สัมปทานมากกว่า ๑ เจ้าจนเงื่อนไขสัญญาไม่เท่าเทียมกัน  เมื่อเปลี่ยนเป็น ใบอนุญาต การออกสัญญาจะรวมศูนย์อยู่จุดเดียวเท่านั้นคือ  “สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช. เงื่อนไขที่แตกต่างกับความเหลื่อมล้ำกันจะหมดไป

ยกตัวอย่างสัญญาประกอบการรถแท็กซี่ คุณจะขับแท็กซี่ได้คุณต้องไปจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกเท่านั้น เพื่อให้รถของคุณมีคุณสมบัติเป็นรถรับจ้าง หรือเพื่อให้เลขทะเบียนรถคุณขึ้นต้นด้วยตัว ท. นี่คือระบบใบอนุญาตที่ทำให้แท็กซี่ทุกคันเสมอภาคกันหมด  เป็นระบบเสรีที่มีการแข่งขันกันจริง  ในทางกลับกันลองสมมุติว่าถ้าไม่มีกรมขนส่งทางบก  การทำแท็กซี่ยึดระบบสัมปทานขึ้นตรงกับจังหวัดของตัวเอง  กรุงเทพฯ อยากกำหนดเงื่อนไขของแท็กซี่แบบหนึ่ง  นนทบุรีก็อยากกำหนดอีกแบบหนึ่ง แต่ละจังหวัดต่างคนต่างให้เงื่อนไขไม่เท่ากัน  ถ้าแท็กซี่นนทบุรีได้เงื่อนไขที่ดีกว่าแล้ววิ่งมารับผู้โดยสารในกรุงเทพฯ ก็ได้เปรียบแท็กซี่กรุงเทพฯ วิ่งไปนนทบุรีก็สู้ไม่ได้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคเลย

รูปแบบสัญญาที่เป็นใบอนุญาตที่จะใช้ในระบบ 3G มีอะไรที่เป็นปัญหา
ระบบใบอนุญาตได้สร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างเอกชนแต่ละราย เช่น ระยะเวลาของใบอนุญาตจะเท่ากันหมดทุกราย คือ ๑๕ ปี ขณะที่ตามระบบสัมปทานเดิมบางรายอาจได้ถึง ๒๐ ปี บางราย ๑๕ ปีเท่านั้น  และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตจะเท่ากันหมดเช่นกัน คือเก็บ ๒ เปอร์เซ็นต์ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย  จากเมื่อก่อนในระบบสัมปทานบางรายจ่าย ๒๐ เปอร์เซ็นต์ บางรายอาจต้องจ่ายถึง ๒๕ เปอร์เซ็นต์

ด้านค่าเชื่อมต่อโครงข่ายจะเท่ากันหมดทุกรายคือ ๙๙ สตางค์ต่อนาทีสำหรับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ขณะที่ในระบบสัมปทาน บางรายไม่ต้องจ่าย บางรายจ่าย ๒๐๐ บาทต่อเลขหมายต่อเดือน

อีกอย่างคือเงื่อนไขคุณภาพบริการ ในระบบใบอนุญาตจะได้รับการกำกับดูแลโดยมาตรฐานเดียวกัน  ขณะที่ในระบบสัมปทานนั้นแล้วแต่ผู้ให้สัมปทานกำหนด

อย่างไรก็ตามการออกใบอนุญาตซึ่งเอกชนทุกรายต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเดียวกันนี้ ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะไม่ไปรวมหัวกันกินโต๊ะผู้บริโภค  ผู้ให้บริการทั้ง ๓ รายอาจสมคบคิดกันกำหนดราคาที่ไม่เป็นธรรม  เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคก็เป็นได้

ในเรื่องนี้ กสทช. จะเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลอย่างไร
โดยหน้าที่แล้ว กสทช. ต้องเข้ามาควบคุม  แต่ที่ผ่านมาดูเหมือน กสทช. จะมีปัญหาว่าให้ความเกรงอกเกรงใจเอกชนมากกว่าเกรงใจประชาชนอย่างเรา  ถามว่าทำไมเขาต้องเกรงใจเอกชน  ก็คงต้องย้อนถามว่าแล้วทำไมเขาต้องเกรงใจเรา อย่างนี้ถึงจะถูกต้องกว่า

วันนี้ถ้าคุณเป็นคนใช้โทรศัพท์มือถือ สัญญาณไม่ชัด สายหลุดบ่อย และเป็นเหมือนกันหมดทุกโอเปอเรเตอร์  คุณไม่พอใจการทำหน้าที่ของ กสทช. คุณจะดำเนินการอย่างไร เคยคิดจะโทร.ไปต่อว่า กสทช. บ้างไหม ? ไม่ เพราะผลประโยชน์ของคุณน้อยเกินไป

นี่เป็นตรรกะของเศรษฐศาสตร์การเมือง พวกเราในฐานะผู้บริโภคเดือดร้อนจากบริการที่ไม่มีคุณภาพ  แต่เราเดือดร้อนพอที่จะไปโวยวายกับ กสทช. ทุกวี่ทุกวันหรือเปล่า  สมมุติเราใช้โทรศัพท์เดือนหนึ่ง ๕๐๐ บาท เราเดือดร้อนเพราะคิดว่าแพงเกินไป ควรจะเป็น ๔๐๐ บาท แปลว่าเราเสียประโยชน์ในแต่ละเดือนประมาณ ๑๐๐ บาท เงินจำนวนนี้มากพอที่จะทำให้เราขยันขันแข็งไปโวยวายกับ กสทช. มากแค่ไหน  แต่ถ้าคุณเป็นโอเปอเรเตอร์  คุณเดือดร้อนจาก กสทช. ปีหนึ่งอาจทำให้คุณเสียเปรียบคู่แข่งเป็นหมื่นล้านบาท คุณต้องวิ่งเข้าหา กสทช. ล็อบบีอุตลุดเลย แต่ละบริษัทถึงตั้งฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ เพราะผลประโยชน์ของเขาก้อนใหญ่  ด้วยตรรกะแบบนี้ ถึงแม้จะมีผู้บริโภคเดือดร้อนอยู่มาก  แต่เราเคยมานั่งถกเถียงกันหรือเปล่าว่าจะทำอย่างไรกับ กสทช.? ก็ไม่ค่อยมีใช่ไหมครับ  ต่างจากเอกชนที่มีผลประโยชน์สูง ตามธรรมชาติย่อมต้องออกแรงโน้มน้าวให้ กสทช. กำหนดกฎกติกาที่เอื้อประโยชน์ต่อตัวเขามากกว่า  โดยทำนองนี้ กสทช. ก็จะรู้สึกเกรงใจเอกชนมากกว่าผู้บริโภคอย่างเรา

ที่มาภาพ: เว็บไซต์สารคดี
ที่มาภาพ: เว็บไซต์สารคดี

เหตุใดการทำงานของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อดูแลกิจการโทรคมนาคมจึงถูกตั้งคำถามมากเหลือเกิน
องค์กรอิสระเกิดขึ้นหลังรัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่กำหนดให้มีองค์กรที่เป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมือง  ในกิจการโทรคมนาคมเองก็เช่นกัน สมัยหนึ่งนักการเมืองหากินกับสัมปทานโทรคมนาคม และสัมปทานวิทยุโทรทัศน์กันมาก  รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มีการตั้ง กสทช. ขึ้นมา แต่เป็นการคิดที่ไม่ครบ  คืออยากให้เป็นอิสระจากนักการเมืองขณะที่พฤติกรรมในระบบสัมปทานได้ฝังรากลึกลงบนสังคมไทย  ทำให้เอกชนเกิดความเชื่อว่าในประเทศนี้ถ้าคุณจะได้เปรียบคู่แข่งหรือสู้ชนะ  คงไม่ใช่ด้วยวิธีการลดราคา หรือปรับปรุงบริการให้ดีกว่าคู่แข่ง ทำเสียงให้ชัดกว่าหรือสื่อสารข้อมูลเร็วกว่า  แค่คุณเอาเวลาไปล็อบบีรัฐ คุณก็สามารถทำกำไรได้มากกว่ากันเยอะ

สมมุติคุณไปดำเนินการใด ๆ จนได้สัญญาเงื่อนไขดี ๆ มาสักสัญญาหนึ่ง  คุณหากินกับสัญญานั้นไปได้อีกนานเลย  ความรู้สึกหรือทัศนคติแบบนี้อาจติดมาถึงยุคใบอนุญาต  คือเอกชนรู้ว่าการตกลงกติกากับ กสทช. มีประโยชน์มากกว่าการปรับปรุงคุณภาพบริการให้แก่ผู้บริโภค  ดังนั้นถ้าคุณโน้มน้าว กสทช. ให้ออกกฎการประมูล 3G ที่คุณได้ประโยชน์  เผลอ ๆ คุณฟันกำไรได้ ๕-๖ พันล้าน หรือหมื่นล้านในพริบตา  ไม่ต้องมานั่งรอกำไรจากการให้บริการผู้บริโภคที่ช้ากว่าและเหนื่อยกว่ากันมาก

การเป็นองค์กรอิสระจากการเมืองเป็นเรื่องดี แต่ยากที่จะเป็นอิสระจากกลุ่มผลประโยชน์  ถ้าเป็นประเทศที่ธรรมาภิบาลเข้มแข็งเขาอาจจัดการได้ เช่น ถ้าจับได้ว่า กสทช. ไปรับเลี้ยงจากเอกชน หรือเดินทางไปดูงานต่างประเทศด้วยเงินเอกชน  นี่เป็นเรื่องใหญ่นะครับ  แต่เมืองไทยครั้งหนึ่งมีข่าวว่าเอกชนรายหนึ่งนำไอโฟนไปแจก กสทช. เป็นข่าวอื้อฉาวอยู่พักหนึ่งแต่แล้วก็เงียบไป  ยิ่งประเทศที่ธรรมาภิบาลไม่เข้มแข็ง  การเป็นองค์กรอิสระยิ่งมีความเสี่ยงว่าจะดำเนินการแย่กว่าองค์กรแบบไม่อิสระ  เพราะหากอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง คุณยังไปโวยวายกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงได้  รัฐมนตรีมีที่มาจาก ส.ส. และ ส.ส. มาจากการเลือกตั้ง  อย่างน้อยคุณยังมีทางไล่เบี้ย  แต่ถ้าเป็นองค์กรอิสระ  คุณจะทำอะไร ? แม้แต่นายกรัฐมนตรียังสั่งไม่ได้เลย

เราจะมีวิธีการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. อย่างไร
ตอนเขียนกฎหมาย กสทช. ผมนึกถึงเรื่องนี้พอสมควร  แต่สุดท้ายก็พบว่ายังไม่พอ เช่น ผมเสนอเขียนเป็นกฎหมายว่าให้เปิดเผยบันทึกการประชุมทุกครั้ง จะได้รู้ว่าคณะกรรมการฯ แต่ละท่านพูดหรือลงคะแนนอย่างไร แต่ตอนหลังเนื้อหาเหล่านี้ถูกตัดตอนบอนไซหมด  เขาเปิดเผยเอกสารน้อยที่สุดเท่าที่เขาคิดว่ากฎหมายยอมรับได้  ไม่มีวัฒนธรรมของการทำงานอย่างโปร่งใสและมีธรรมาธิบาลเท่าไรเลย เพราะฉะนั้นการตรวจสอบในทางปฏิบัตินั้นไม่ง่าย

ช่วงก่อนเปิดประมูลคลื่นความถี่ 3G ประชาชนไปให้ข้อมูลในกระบวนการรับฟังความเห็นว่าการประมูลด้วยวิธีการแบบนี้ไม่ดี น่าจะใช้วิธีอื่น  ตามกฎหมาย กสทช. มีหน้าที่ตอบว่าถ้าไม่ใช้วิธีที่ประชาชนเสนอ  เหตุผลคืออะไร แต่เขาก็ตอบแบบขอไปที

อีกครั้งหนึ่งตอน กสทช. กำลังทำแผนแม่บทโทรคมนาคม  ในฐานะประชาชนคนหนึ่งผมเสนอให้ตั้งเป้าว่าอย่างน้อยค่าโทรศัพท์ของเมืองไทยต้องถูกเป็นอับดับ ๒ ของอาเซียน  ผมคิดว่าวิธีนี้ดีที่สุด  เมื่อประเมินผลก็จะรู้ว่าค่าโทรศัพท์ไทยถูกจริงหรือเปล่า  ถ้าไม่ถูก กสทช. จะนั่งเฉยไม่ได้ เพราะผลการประเมินจะประจานการทำงานของคุณอยู่  ปรากฏว่าเขาไม่รับความเห็นนี้ บอกว่าข้อเสนอเดิมของ กสทช. ดีอยู่แล้ว  ซึ่งไม่ใช่การให้เหตุผลเลย  เป็นการตอบขอไปทีแบบมั่ว ๆ ตามกฎหมาย  คุณควรจะต้องบอกว่าเหตุใดจึงไม่ควรทำค่าโทรศัพท์ถูกเป็นอันดับ ๒ ของอาเซียน

ในสถานการณ์ที่ดูเหมือนกิจการโทรคมนาคมไทยถูกควบคุมโดยโอเปอเรเตอร์ยักษ์ใหญ่ ๓ เจ้า ผู้บริโภคอย่างเราควรเฝ้าระวังอย่างไร
ประชาชนควรจะต้องโวยวายกับ กสทช. ให้มากที่สุดว่า  กสทช. ปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ได้อย่างไร ต้องบอกว่าคุณทำเสียหายอย่างนี้เรารับไม่ได้  สื่อมวลชนคอลัมนิสต์ต้องช่วยกัน  ไม่ใช่ไปรับงบประชาสัมพันธ์จาก กสทช. แล้วไม่ตรวจสอบ เผลอ ๆ แถมแก้ต่างให้ด้วย  ส่วนการทำงานของเอกชนผู้ให้บริการ 3G ก็เช่นกัน มีคนพูดกันว่าทุกวันนี้เอกชนแต่ละเจ้ามีอิทธิพลต่อ กสทช. ไม่เท่ากัน  เปรียบเปรยว่าถ้าถือโทรศัพท์ไปที่สำนักงาน กสทช. บางเจ้าเปิดมามีสัญญาณ ๓ ขีด บางเจ้ามี ๒ ขีด บางเจ้าขีดเดียว  สัญญาณที่ว่านี้ไม่ใช่สัญญาณคลื่นโทรศัพท์นะครับ  แต่เป็นสัญญาณว่า กสทช. เอ็นดูใครแค่ไหน  ขณะที่สัญญาณของประชาชนดูเหมือนจะเกือบเป็นศูนย์

ประเทศกำลังเดินเข้าสู่ยุค 3G เราควรแสวงประโยชน์อะไรกับยุคเทคโนโลยีนี้บ้าง
ภาคธุรกิจตอนนี้พร้อมแล้วที่จะเอา 3G ไปใช้ โดยเฉพาะพวกที่ทำแอปพลิเคชัน ทำเว็บอีคอมเมอร์ซ  วงการสื่อสารมวลชนคงได้ใช้ประโยชน์เยอะ เมื่อวานผมไปออกรายการโทรทัศน์  วันนี้ดูรายการผ่านไอแพดได้แล้ว  ล่าสุดซีทีเอช (CTH) ได้ลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ  เขาก็คงพยายามถ่ายทอดสดออกไปในทุก ๆ แพลตฟอร์ม  ส่วนการถ่ายทอดสดภาคสนามของรายการโทรทัศน์  เมื่อก่อนต้องมีรถโอบีคันใหญ่จึงจะถ่ายทอดสดได้  ต้องอาศัยเครื่องไม้เครื่องมือราคาแพง  พอคุณมี 3G แค่ใช้กล้องถ่ายแล้วก็ส่งข้อมูลผ่าน 3G ไปยังห้องส่งได้

สำหรับประชาชนทั่วไป คนที่จะได้ประโยชน์จาก 3G มากที่สุดคือคนที่มีอุปกรณ์พวกสมาร์ทดีไวส์ (smart device) พวกแท็บเล็ต ไอโฟน กาแล็กซี สำหรับเล่นอินเทอร์เน็ต เช็กอีเมล ดูข่าวสาร เรื่อยไปถึงหักบัญชีธนาคาร หรือสไกป์ (skype) ให้อาจารย์ที่กรุงเทพฯ สอนเด็กต่างจังหวัด  อีกกรณีคือถ้าคลื่น 3G มีในพื้นที่ของคุณแล้ว แต่สายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงยังต่อมาไม่ถึง  คุณก็สามารถนำอุปกรณ์ เช่น ไอโฟนมารับคลื่น 3G กระจายสัญญาณเป็น wifi ออกไปให้เครื่องพีซีรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตได้  อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะกระจายไปในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตามธุรกิจจำนวนหนึ่งจะเสียเปรียบโอเปอเรเตอร์ เช่น ผู้ที่คิดจะทำมาค้าขายผ่านมือถือ  สมมุติคุณเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์  คุณมีข่าวอยากให้บริการผ่าน 3G  หรืออยากให้เอสเอ็มเอสข่าวของคุณไปถึงมือผู้บริโภค  บริษัทโทรศัพท์มือถือก็จะบอกว่าถ้าคุณอยากจะเอาข่าวมาปล่อย  ผมขอหักส่วนแบ่งกี่เปอร์เซ็นต์ เหมือนน้ำพักน้ำแรงถูกสูบไป เพราะฉะนั้น กสทช. ต้องพยายามกำกับดูแลให้มันยุติธรรมกว่าที่เป็นอยู่นี้

ค่าให้บริการ 3G ที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร
3G แบบทดลองใช้ถ้าคุณไปสมัครตอนนี้ค่าบริการถือว่าแพง  ลองดูแพ็กเกจต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ ๖๐๐-๗๐๐ บาทต่อเดือนขึ้นไป ดาวน์โหลดข้อมูลได้ ๕ กิกะไบต์  ถ้าดาวน์โหลดเกินคิดเงินเพิ่ม  แต่ถ้าคุณลองไปดูแพ็กเกจของอังกฤษหรืออีกหลายประเทศทั่วโลก  เขาขายกันอยู่ที่ ๑ กิกะไบต์ต่อเดือน แล้วกำหนดราคาต่ำกว่าเรา  หมายความว่าผู้บริโภคชาวไทยถูกบังคับให้ซื้อกินเกินความต้องการ  คือแม้จะเทียบกันกิกะไบต์ต่อกิกะไบต์แล้วของไทยเหมือนว่าราคาจะถูกกว่า  แต่ว่าคุณต้องกินเยอะ  ทั้งที่ความจริงคุณควรมีสิทธิ์เลือกกินนิดเดียวได้  สรุปคือขณะที่หลายประเทศมีแพ็กเกจขนาดเล็กให้เลือกกิน  ผู้บริโภคชาวไทยกลับถูกยัดเยียดขาย

มีข้อบังคับหรือไม่ว่าการปูพรม 3G ให้ครอบคุลมพื้นที่ทั่วประเทศนั้นต้องใช้ในเวลานานเท่าไร
กสทช. กำหนดไว้ไม่ครบทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์  คือเขากำหนดว่าภายใน ๒ ปีแรกต้องให้ครอบคลุมจำนวนประชากร ๕๐ เปอร์เซ็นต์ก่อน  ปีที่ ๔ เพิ่มขึ้นเป็น ๘๐ เปอร์เซ็นต์  แต่ไปไม่ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์นะ  สาเหตุที่ต้องใช้วิธีนี้เพราะประชากร ๑๐ เปอร์เซ็นต์แรกจะได้ใช้ 3G ที่ต้นทุนถูกกว่า  อีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ต่อมาต้นทุนจะสูงขึ้นและจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะเขาไม่ได้วัดเรื่องความครอบคลุมของสัญญาณจากขนาดของพื้นที่  แต่ดูจากจำนวนประชากร  การจะให้ครอบคลุมประชากร ๑๐ หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์แรกต้องทำอย่างไร  โอเปอเรเตอร์แค่ปักเสาในกรุงเทพฯ เท่านั้นก็อาจจะพอแล้ว  เพราะปักในหัวเมืองได้ประชากรเยอะ  คนอยู่กันหนาแน่น  คุณไปปักในขอนแก่นให้ครอบคลุมเท่ากับคนในกรุงเทพฯ นี่ขอนแก่นแพงกว่า  ถ้าคุณไปปักที่หนองคายก็ยิ่งแพงกว่าขอนแก่น  ถ้าไปปักบนยอดดอย คนอยู่น้อยก็ยิ่งแพงกว่า  ฉะนั้นถ้าจะให้ครบหมดทั้ง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์มันจะแพงมาก  พื้นที่ส่วนที่ขาด กสทช. จึงต้องบริหารเงินใน “กองทุนให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง” ไปช่วยจ้างโอเปอเรเตอร์ติดตั้งเสา  กองทุนนี้มีมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมาถูกใช้อย่างไม่ค่อยมีประสิทธิภาพนัก  เมื่อเม็ดเงินในตลาดโทรคมนาคมมากขึ้น  กองทุนก็โตตาม  เราต้องช่วยกันจับตาดูว่าเงินกองทุนจะถูกนำไปใช้อย่างไร

วันนี้ญี่ปุ่นรุดหน้าไปถึงยุค 4G เช่นเดียวกับอีกไม่น้อยกว่า ๒๐-๓๐ ประเทศทั่วโลก หลายประเทศก็เข้าสู่ยุค 3G มานานแล้ว  อาจารย์คิดว่ายุคสมัยของ 3G ในเมืองไทยจะยาวนานสักเพียงใด
โทรศัพท์มือถือของไทยเริ่มให้บริการราว พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๐ เป็นเทคโนโลยียุคอนาล็อกหรือเรียกว่ายุค 1G ใช้โทร.คุยกันอย่างเดียว  ราว พ.ศ. ๒๕๓๗ เทคโนโลยียุคดิจิทัลก็เข้ามา  เริ่มต้นสามารถส่งผ่านข้อมูลแบบง่าย ๆ เช่น ส่งเอสเอ็มเอสหรือดาวน์โหลดเว็บไซต์แบบไม่ใช้ข้อมูลเยอะ ๆ เรียกว่ายุค 2G ที่มีการพัฒนามาเป็นลำดับ  จนมาถึงยุค 3G ที่เน้นส่งข้อมูลมากกว่าคุยกันแล้ว และสามารถส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง ๆ ด้วย

จะเห็นว่าตัวเทคโนโลยีมีมาก่อน การบริการถึงค่อยตามมา เพราะการให้บริการเป็นเรื่องของตัวสัญญาและการจัดสรรคลื่นความถี่  เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชนที่จะตกลงกันให้เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันหรือไม่

วันนี้เทคโนโลยี 4G มีใช้ในต่างประเทศแล้ว สำหรับประเทศไทย กสทช. ประกาศว่ากลางปีนี้จะมีการประมูล 4G ซึ่งช่วงเริ่มต้นคงมีใช้กันในวงแคบ ๆ เพราะในมุมมองของโอเปอเรเตอร์ที่ลงทุน  เขาเพิ่งลงทุนกับ 3G ไปหมาด ๆ  ถ้าเร่งลงทุน 4G ต่อทันที ก็จะทำให้ 3G ดูดีน้อยลง เนื่องจากความเร็วมันต่างกัน  คือเขาจะลงทุนเพียงเพื่อถือสิทธิ์ให้ได้ที่ดินใหม่ หมายถึงคลื่นความถี่สำหรับการให้บริการ 4G ในอนาคต  เรียกว่าขอเอาเสาไปปักไว้ก่อนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของและสำหรับทำการตลาดบอกว่าบริษัทของเรามี 4G ใช้แล้ว  แต่คิดว่าคงจะไม่ได้ปูพรมกันขนานใหญ่  อย่างเร็วอีก ๓-๔ ปีถึงจะเริ่ม

กรณีนี้ กสทช. จะเข้ามาเร่งให้โอเปอเรเตอร์รีบดำเนินการ 4G ได้ไหม
กสทช. ก็พยายามเร่งอยู่  แต่สาเหตุไม่ได้มาจากการมองผู้ใช้บริการเป็นตัวตั้ง แต่เป็นความต้องการจากฝั่งของโอเปอเร-เตอร์มากกว่า  เนื่องจากสัมปทานในระบบ 2G ของ ๒ เจ้า คือ สัมปทานบางส่วนของเอไอเอส และสัมปทานทั้งหมดของทรูมูฟ กำลังจะหมดลงในช่วงเดือนกันยายนปีนี้  เขาต้องคืนคลื่นความถี่ให้ กสทช. เขาก็บอกว่าถ้าคืนคลื่นไป ลูกค้าในปัจจุบันจะเคว้ง ไม่รู้ไปอยู่ไหน ขอให้ กสทช. รีบออก 4G มารองรับ 2G ที่กำลังจะหมดลงก่อน

ในมุมของผู้ประกอบการ เขาย่อมอยากได้คลื่นให้เร็วที่สุด  และด้วยตอนนี้ตลาดโทรคมนาคมไทยยังไม่ได้เปิดเสรี  การเอาของมาแจกกันตอนนี้มั่นใจได้ว่าจะมีเพียง ๓ รายเท่านั้นที่ได้รับ  แต่ถ้ารอไป ในอนาคตอาจมีรายใหม่เข้ามา ก็เสี่ยงว่าจะต้องเจอคู่แข่งขันหลายราย  ดังนั้นขอให้ กสทช. รีบเปิดประมูลดีกว่า ให้เขาได้คลื่นมาก่อน  ของอย่างนี้สิบเบี้ยใกล้มือเอามาก่อนครับ  จะใช้จริงหรือไม่ค่อยว่ากัน  ๑. เพื่อเป็นการได้ครองตลาดต่อไป  ๒. เป็นการตัดคู่แข่งในอนาคตไปในตัว

ทำไมอาจารย์ในฐานะผู้บริโภคจึงดูไม่เร่งร้อนให้เกิด 4G ในเร็ววัน
ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าผู้บริโภคส่วนหนึ่งต้องการใช้  แน่นอนว่าต้องมีคนกลุ่มหนึ่งได้ใช้ประโยชน์  แต่หากถามถึงความจำเป็นที่จะต้องรีบมี  ในมุมมองของผู้บริโภคไม่มีความจำเป็นมากมายเลย  เมื่อ 3G ที่ออกมาปรับปรุงการส่งข้อมูลที่ช้าให้คลี่คลายแล้ว  ความเร็วของ 3G ถือว่าใช้ได้ในระดับแอปพลิเคชันทั่วไป  ดูยูทูบด้วย 3G ได้สบาย  ส่วน 4G จะใช้กับการสื่อสารข้อมูลที่ความเร็วสูงขึ้นไปกว่านั้นมาก  เช่นคุณต้องการดาวน์โหลดหนังความคมชัดสูงระบบบลูเรย์ทั้งเรื่อง หรือดูหนังทั้งเรื่องผ่านมือถือ ผ่านแท็บเล็ต  อย่างนั้นคุณต้องการความเร็วระดับ 4G แล้ว ก็คงมีคนจำนวนหนึ่งต้องการครับ พวกที่เป็นแนวหน้าหรือชอบเทคโนโลยีมาก ๆ  หรือคนทำธุรกิจที่เกี่ยวข้อง  แต่ว่าสำหรับคนทั่วไปคงจะไม่ได้ใช้กันแพร่หลายแน่นอน  ผมถึงบอกว่าถ้า 4G ออกมาในปีสองปีนี้  คงออกมาเพื่อทำการตลาดให้เห็นว่าบริษัทเราเป็นผู้นำ  และการที่ กสทช. เร่งให้มีการประมูล  ผู้ได้รับประโยชน์คือโอเปอเรเตอร์มากกว่า

มันเหมือนกับเวลาคุณดื่มน้ำ  คุณกระหายน้ำจัดเพราะเพิ่งเดินผ่านทะเลทราย  คุณไม่ได้กินอะไรมาหลายวัน  คุณมาถึงที่พัก ดื่มน้ำไปเหยือกใหญ่  นั่นคือ 3G ที่คุณดื่มไปแล้ว ๑ เหยือก  เหลืออีก ๑ เหยือกเป็นเหยือกของ 4G น้ำเหยือกนี้อร่อยรสชาติดียิ่งกว่าเหยือกแรก  แต่คุณดับกระหายไปเยอะแล้ว ก็ดื่มต่อไม่หมด  มีบางคนที่กระหายหนักอยากจะดื่มต่อ  แต่ไม่ใช่คนส่วนใหญ่

ดังนั้นหากมีการประมูล 4G  ประเด็นสำคัญกว่าคือการปรับโครงสร้างตลาด  หมายความว่าในเมื่อ 2G และ 3G เคยมีโอเปอเรเตอร์ ๓ รายมาก่อน  แล้ว 4G ยังมี ๓ รายเหมือนเดิม ไม่มีการเปิดตลาด ผมมีคำถามว่าผู้บริโภคจะได้ประโยชน์ที่สุดหรือไม่

อนาคตข้างหน้า ผู้ที่มีความต้องการเพียงเทคโนโลยีระดับ 2G หรือน้อยกว่านั้น จะใช้ชีวิตอย่างไรบนดวงดาวที่หมุนไปไวเหลือเกิน
คงต้องช่วยกันเรียกร้องว่าแพ็กเกจต่าง ๆ ที่ออกมาในระบบ 3G ต้องมีแพ็กเกจที่เป็น voice หรือบริการรับส่งเฉพาะข้อมูลเสียงอย่างเดียวด้วย  หมายความว่าในอนาคตข้างหน้าที่อาจจะไม่มี 2G แล้ว  เมื่อคุณไปสมัครบริการ 3G  แล้วผู้ประกอบการสมคบกันกำหนดว่าคุณต้องใช้เสียงและข้อมูลด้วย  หากคุณยืนยันว่าคุณต้องการแค่โทรศัพท์สำหรับพูดคุยกันอย่างเดียวเท่านั้น  แล้วคุณกลับถูกบังคับให้ต้องซื้อแพ็กเกจพ่วงกับข้อมูลมันก็ไม่ยุติธรรม  ฉะนั้นต้องมั่นใจว่าจะมีแพ็กเกจให้คุณสามารถใช้อย่างเหมาะสม ในราคาที่สมน้ำสมเนื้อ กสทช. ต้องกำหนดให้โอเปอเรเตอร์มีทางเลือกให้ผู้บริโภค

มันเหมือนกับเรื่องน้ำมันกับรถยนต์  ถ้าตอนนี้รถคุณยังเติมเบนซิน ๙๕ คุณหาปั๊มเติมน้ำมันยากมาก อาจจะต้องขับไปไกล  เท่ากับคุณถูกบังคับกลาย ๆ ให้เติมเบนซิน ๙๑ ซึ่งถ้ารถคุณเติมเบนซิน ๙๑ ไม่ได้  คุณตายอย่างเขียดเลย

ซื้อโทรศัพท์ ติดตามแพ็กเกจใหม่ ๆ นี่เราต้องเดินตามเทคโนโลยีตลอดไปงั้นหรือ
แล้วแต่คุณครับ วันนี้คนที่ไม่ใช้โทรศัพท์เลยก็มี  ถ้าคุณยังมีเจตจำนงเสรี  คุณยังมี free will อยู่  ถ้าคุณไม่สนว่าจะแตกต่างจากคนอื่น  ทุกวันนี้ผู้คนในหมู่บ้านอามิช (Amish) ในอเมริกา เขาก็ไม่มีทีวี เขายินดีที่จะขี่รถม้า เขาก็ยังอยู่กันได้  ถ้าคุณอยากใช้ชีวิตอย่างนั้นมันก็มีทางเลือก  แต่คุณจะเสียโอกาสเยอะนะ  คุณจะไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร หรือต้องอ่านข่าวเอาจากหนังสือพิมพ์ ไม่ได้รับเอสเอ็มเอสหรือคลิปโหลดจากมือถือ  คือคุณจะมีไลฟ์สไตล์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งคุณคงจะเป็นกลุ่มคนที่เล็กลง ๆ ทุกที

บทเรียน 3G สอนอะไรกับเรา
คนไทยอยากได้ผลลัพธ์ คืออยากได้ 3G แต่ไม่สนใจกระบวนการว่าจะพิสดารผิดปรกติ เอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจอย่างไร เอาเปรียบประชาชนไหม  ถ้าประชาชนคิดตัดช่องน้อยแต่พอตัว บอกว่า “ไม่เป็นไร” เราจะแก้ปัญหาใหญ่ ๆ ของประเทศไทยไม่ได้เลย  ถ้าประชาชนคิดแบบเดียวกันว่าถ้ามีคอร์รัปชันแต่ประชาชนได้ประโยชน์  เรายอม  คอร์รัปชันก็จะมา  ถ้าประชาชนตัดช่องน้อยแต่พอตัวเรื่องการศึกษา  คิดว่ามีสตางค์ส่งลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ จ่ายแป๊ะเจี๊ยะเข้าโรงเรียนดัง ๆ แล้วไม่ช่วยกันปฏิรูปการศึกษาให้เกิดขึ้น  ตัวเราเองไปได้ แต่ประเทศในส่วนรวมไปไม่ได้นะ  แล้วเมื่อส่วนรวมไปไม่ได้  สุดท้ายประชาชนก็ไปไม่ได้อยู่ดี

3G สะท้อนว่าเราต้องไม่มองระยะสั้น ไม่มองเฉพาะผลลัพธ์เฉพาะหน้า  แต่ต้องมองให้ยาว มองทั้งกระบวนการ  ผลลัพธ์ระยะยาวจะดีได้กระบวนการต้องถูกด้วย  เพราะถ้ากระบวนการไม่ดี  สุดท้ายประชาชนต้องมีส่วนร่วมในผลของกระบวนการที่ผิดพลาดนั้นอยู่ดี  ถ้าประชาชนไม่ตื่นตัว รัฐก็จะไม่ทำในสิ่งที่ประชาชนอยากได้จริง ๆ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์นิตยสาร สารคดี วันที่ 6 มีนาคม 2556 ในชื่อ สัมภาษณ์ – นับถอยหลัง 3G ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)

เรื่องที่คุณอาจสนใจ