tdri logo

Notice: Undefined offset: 0 in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 229

Notice: Trying to get property 'term_id' of non-object in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 241
24 เม.ย. 2013
Read in Minutes

Views

ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง: นโยบายจำนำข้าว ประกันราคา ทิศทางที่ไทยควรเลือกเดิน

SIU สัมภาษณ์ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในวันที่ฤดูกาลจำนำข้าวประจำปี 2556 กำลังจะมาถึง เราจะมาคุยกันตั้งแต่เรื่องนโยบายช่วยหลือเกษตรกร เกษตรพันธสัญญา วิกฤตอาหาร และพืชพลังงานเพื่อทบทวนทิศทางนโยบายที่ควรจะเป็น

SIU: ตอนนี้สิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของนโยบายจำนำข้าว โดยเฉพาะตอนนี้กำลังใกล้ถึงฤดูกาลใหม่ของปีนี้ อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายนี้บ้างครับ

ดร.วิโรจน์: ที่ผ่านมา ถ้ามีใครลุ้นว่ารัฐบาลอาจขายข้าวได้ราคาดีกว่าที่คิด ตอนนี้ผมยังไม่เห็น จากข้อมูลที่คุณณัฐวุฒิตอบกระทู้ในสภา ก็เหมือนจะคอนเฟิร์มว่าที่ผ่านมาการระบายข้าวมีปัญหามาตลอด ทั้งในด้านปริมาณและราคา เมื่อการระบายมีปัญหา เงินก็จมอยู่ตรงนั้น ตัวเลขที่เราเคยพูดกันว่ารัฐบาลจะขาดทุนนั้น คิดจากส่วนต่างราคา จากการซื้อแพงแล้วขายถูก ซึ่งอย่างต่ำก็คงปีละแสนล้าน อาจจะแสนต้นๆ แต่ถ้าขายขาดทุนมากก็จะกลายเป็นแสนปลายๆ ยิ่งถ้าระบายข้าวได้น้อย เงินก็จะยิ่งจมอยู่ตรงนั้นมากขึ้น เพราะปีหนึ่งใช้เงินซื้อสามแสนล้าน และข้าวที่เก็บไว้นานก็จะเสื่อมคุณภาพและราคาก็ตกลงด้วย

SIU: สมมุติว่าถ้าจะปรับในเชิงระบบในเรื่องข้าวของไทย มันมีทางออกอะไรที่ดีกว่า นโยบายทั้งประกัน หรือจำนำบ้างไหมครับ?

ดร.วิโรจน์: ทุกมาตรการที่เอามาใช้ต่างก็มีปัญหาของตัวเอง เราต้องยอมรับความจริงว่าเกษตรกรของเราส่วนหนึ่งฐานะไม่ได้ดีมาก และการที่ฐานะไม่ได้ดีมากก็ทำให้แทบทุกมาตรการที่กระทบต่อราคาหรือรายได้มีผลที่แรง เพราะเมื่อไหร่ที่พืชผลตัวไหนราคาดี ก็จะมีเกษตรกรหันมาผลิตเพิ่ม ตราบที่ผลิตแล้วยังมีกำไรบ้าง ถึงแม้จะไม่มากก็ตาม การผลิตเพิ่มเกิดกับพืชที่ราคาดีไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง หรือยางพารา อย่างอ้อยเราจะเห็นได้ว่าราคาดีติดต่อกันมาหลายปี ซึ่งส่วนหนึ่งก็อาศัยการกดดันทางการเมือง โดยชาวไร่บอกว่าไม่คุ้มทุน แต่ที่ราคาขนาดนี้ที่เขาได้มา 4-5 ปีนี้ ก็ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก

SIU: บางทีอาจจะเกี่ยวกับเรื่องพลังทางการเมือง เช่น ในกรณีของอ้อยกับการเป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองใช่ไหมครับ?

ดร.วิโรจน์: พลังทางการเมืองของอ้อยน่าจะมาจากธรรมชาติของอ้อยเอง ที่ปกติชาวไร่จะส่งอ้อยให้โรงงานในพื้นที่ เพราะไม่คุ้มที่จะขนไปไกลๆ ชาวไร่ก็จะเห็นชัดว่าการรวมตัวกันทำให้พวกเขามีอำนาจต่อรองมากกว่าต่างคนต่างขาย และเมื่อรวมตัวกันได้ก็ทำให้มีพลังต่อรองกับนักการเมืองและพรรคการเมืองด้วย อ้อยเป็นตัวอย่างที่ดีว่า ถ้าแรงจูงใจด้านราคาดี ผลผลิตก็จะมีแต่เพิ่ม ซึ่งข้าวก็กำลังเดินซ้ำรอยเดียวกัน

ปัญหาของเราต่างจากประเทศอย่างญี่ปุ่น ซึ่งปกติเขาผลิตได้ไม่พอกิน ผลิตเพิ่มขึ้นอีกไม่เป็นไร ของเราผลผลิตเพิ่มก็ต้องหาทางระบายเพิ่ม ซึ่งในโลกการค้าปกติ ถ้าผลผลิตรวมเพิ่มราคาก็จะตก ทำให้ยังขายของได้ แต่ของเราตั้งราคารับซื้อสูง ผลผลิตเพิ่ม แล้วเราก็ยังคิดที่จะขายในราคาที่สูงกว่าเดิมอีก เพราะฉะนั้นก็เลยไม่มีทางไป

siu

SIU: เราอาจจะพูดว่าเป็นโมเดลที่เป็นไปไม่ได้ทางเศรษฐศาสตร์ ได้หรือเปล่า?

ดร.วิโรจน์: จริงๆ เป็นไปได้ในแบบที่ผมเคยพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า ถ้าเราบอกว่าเราจะทำโครงการนี้แบบขาดทุนเพื่อช่วยชาวนา โดยประชาชนผู้เสียภาษีจะเป็นผู้รับภาระการขาดทุน โมเดลแบบนี้ทำได้ ถ้าฝ่ายการเมืองสามารถตอบโจทย์กับทุกฝ่าย คือนอกจากฝั่งชาวนาที่จะได้ประโยชน์แล้ว ประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ยินดีเสียสละเงินเพื่อให้รัฐบาลเอาไปช่วยชาวนา และรัฐบาลก็พร้อมที่จะขาดทุนจากโครงการนี้

โมเดลแบบนี้ถึงจะทำได้ แต่โมเดลที่บอกว่าเราจะตั้งราคาให้สูงไว้ จะขยายการผลิตเยอะๆ แล้วยังจะสามารถขายในราคาที่สูงกว่าเดิม แล้วก็ยังสามารถแข่งในตลาดโลกได้ด้วย แบบ win-win ทุกอย่างแบบนั้นไม่มีใครเคยทำได้จริง

SIU: สิ่งหนึ่งที่ TDRI ชี้ให้สังคมเห็นในเรื่องนโยบายนี้ ก็คือเรื่องของการกระจายของเงิน จริงๆแล้วมันไม่ถูกไปถึงชาวนาที่จนที่สุด แต่ว่าชาวนารวยได้ประโยชน์อย่างที่ TDRI เสนอใช่หรือไม่?

ดร.วิโรจน์: ผมอยากพูดเรื่องนี้ให้ชัดในอย่างน้อย 2 ประเด็น ประเด็นแรก มีข่าวที่ออกมาช่วงแรกๆ ที่ผมถือว่าไม่แฟร์ ก็คือข่าวที่บอกว่าโครงการประเภทนี้เงินไปถึงเกษตรกรแค่ 17% ซึ่งตัวเลขนี้มาจากงานวิจัยจริงๆ แต่เป็นงานในอดีต ในประเด็นนี้ ผมได้เคยแย้งเอาไว้ในบทสัมภาษณ์ของประชาไทไว้ว่า เนื่องจากโครงการจำนำข้าวในอดีตเป็นการรับจำนำแบบจำกัดโควต้าแค่ 20%-30% ของผลผลิต ไม่ได้ประกาศรับจำนำทุกเม็ด ชาวนาจึงไม่มีอำนาจการต่อรองกับโรงสีที่เข้าโครงการเลย

สมมุติว่า ตั้งราคาจำนำไว้ 10,000 บาท แล้วโรงสีตีราคาให้ 7,500 ซึ่งดีกว่าราคาตลาดเพียงนิดหน่อย ชาวนาก็มักจะยอมขาย เพราะเห็นว่ายังดีกว่าต้องขนข้าวกลับไป ซึ่งถ้าไปขายที่อื่นยังไงก็ได้ราคาต่ำกว่านั้นอยู่ดี ในโครงการแบบนั้นก็ชัดเจนว่าผลประโยชน์จะตกกับชาวนาน้อย แต่ผมคิดว่าส่วนนี้เปลี่ยนไปโดยพื้นฐานจากการที่รัฐหันมารับจำนำทุกเม็ด แต่ที่เปลี่ยนไม่หมดก็เพราะในทางปฏิบัติแล้วในหลายพื้นที่ โรงสีที่เข้าร่วมโครงการไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะสามารถรับข้าวได้ทั้งหมดอย่างทันท่วงที บางที่ต้องรอกันเป็นวันๆ เกิน 24 ชั่วโมง รวมทั้งเวลาขายกว่าจะได้เงินก็ใช้เวลานานกว่าขายให้พ่อค้าหรือโรงสีทั่วไป บางทีก็นานเป็นเดือน ซึ่งก็ทำให้คนจำนวนหนึ่งหนีออกไป

แต่อย่างน้อยครั้งนี้ชาวนาน่าจะได้ประโยชน์ค่อนข้างเต็มที่เมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ คือ ราคาที่เขาขายได้จริงน่าจะใกล้เคียงกับราคาที่รัฐบาลกำหนด (15,000 หรือ 20,000 บาทหักค่าคุณภาพ ความชื้นและสิ่งเจือปน) แต่ถ้าถามว่าชาวนาได้ประโยชน์ขนาดนี้คุ้มกับที่เงินที่เราทุ่มลงไปหรือไม่ อันนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ประเด็นที่สอง เรื่องที่ว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกกับชาวนาที่มีฐานะปานกลางถึงรวย อันนี้ก็จริง แต่คำถามหนึ่งซึ่งไม่มีใครพูดถึงคือ ถ้ารัฐบาลจะใช้นโยบายที่มีผลกระทบต่อราคาข้าว แล้วสมมุติว่าผมเป็นชาวนาที่ปลูกข้าวแค่พอกินไว้กินเองในครอบครัว ทำไมผมถึงควรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ด้วย ถ้าบอกว่าเราจะเอาเงินไปช่วยให้ชาวนาขายข้าวในราคาดีขึ้น แต่สำหรับคนที่ปลูกข้าวไว้กินเอง ทำไมเขาถึงควรได้รับความช่วยเหลือ ในเมื่อเขาไม่ได้ตั้งใจจะปลูกข้าวไว้ขายตั้งแต่แรกแล้ว

เพราะฉะนั้นการที่บอกว่านโยบายนี้ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยรัฐบาลคุณอภิสิทธิ์ (ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากข้อเสนอของเราคือ TDRI) ที่อุดหนุนตั้งแต่เกวียนแรกให้ประโยชน์กับชาวนายากจนมากกว่า คือไม่ว่าคุณจะมีข้าวเหลือขายหรือไม่ แค่คุณเริ่มปลูกข้าว คุณก็ได้รับการอุดหนุน ก็คงต้องตั้งคำถามด้วยว่า เราต้องการเอาเงินภาษีประชาชนมาอุดหนุนให้คนหันมาปลูกข้าวไว้กินเองหรือเปล่า ถ้าคุณเห็นด้วยกับแนวคิดของ NGOs บางกลุ่ม คุณก็อาจเห็นว่านี่เป็นนโยบายที่ดีก็ได้

แต่ถ้าคุณไม่คิดว่าสังคมควรจะมีเป้าหมายอย่างนั้น หรือไม่คิดว่าเราควรเอาภาษีประชาชนมาสนับสนุนให้คนปลูกข้าวกินเอง ก็ไม่แปลกอะไรที่ชาวนาที่ปลูกข้าวไว้กินเองจะไม่ควรเป็นกลุ่มเป้าหมายของนโยบายที่เกี่ยวกับราคาข้าว ไม่เช่นนั้นก็เหมือนกับว่าคุณเอาเงินไปให้เขาเพียงเพราะว่าเขาทำนาปลูกข้าว

เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลเลือกใช้นโยบายอุดหนุนด้านราคา แล้วประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับชาวนาระดับปานกลางไปถึงระดับรวยก็เป็นเรื่องปกติ เพราะมาตรการด้านราคาก็ย่อมเป็นประโยชน์ที่มาพร้อมกับคนที่มีของไว้ขายมากๆ ซึ่งถ้าใครคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องช่วยชาวนาเหล่านี้ ก็หมายความว่าเราไม่จำเป็นต้องมีนโยบายอุดหนุนราคาข้าว แต่การที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับชาวนาระดับปานกลางไปถึงระดับรวยไม่ใช่ความบกพร่องของตัวโครงการเอง

ภาพจาก Pixpros.net โดยคุณ i_chud
ภาพจาก Pixpros.net โดยคุณ i_chud

SIU: การที่รัฐบาลเลือกที่จะรับจำนำแบบไม่จำกัดจำนวนของข้าวเพื่อเอาใจฐานเสียงด้วยใช่ไหม?

ดร.วิโรจน์: จะเป็นฐานเสียงหรือเปล่าไม่รู้ แต่รัฐบาลคงต้องการเสียงจากชาวนา และในความเป็นจริง ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ก็คงตกกับชาวนาที่มีฐานะดีจริง เพราะฉะนั้นสังคมอาจต้องตั้งคำถามว่า ตกลงเราควรต้องอุดหนุนเกษตรกรเพียงเพราะเขาประกอบอาชีพนี้หรือเปล่า ซึ่งเป็นคำถามหนึ่งที่ผมคิดว่าผู้กำหนดนโยบายควรต้องคิดให้หนัก และควรตระหนักว่า

(1) เกษตรกรไม่ได้เท่ากับความยากจนเสมอไป และ
(2) การใช้นโยบายอุดหนุนด้านราคามักจะทำให้ประโยชน์ส่วนใหญ่ไปตกอยู่กับเกษตรกรที่มีฐานะดีหรือค่อนข้างดี ซึ่งสองข้อนี้น่าจะเป็นจริงในกรณีพืชอื่นๆ ด้วย

SIU: ในส่วนของเรื่องระบบการวางแผนการผลิต ซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึงในเมืองไทยมากเท่าไหร่ เราจะเห็นว่าเมื่อมีกระแสอะไรมาก็จะหันไปปลูกกัน เช่น ยางพารา หรือ พืชพลังงาน เรื่องระบบการวางแผนการผลิตสำคัญมากน้อยเพียงใด

ดร.วิโรจน์: การวางแผนการผลิตด้านการเกษตรมักจะเน้นที่การควบคุมการผลิต ซึ่งมี 2-3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องคือ เราจะควบคุมเพื่ออะไร จะควบคุมแค่ไหน และการควบคุมจะช่วยแก้ปัญหาให้เราได้แค่ไหน ในหลายประเทศที่มีระบบการควบคุม ก็เพื่อเอื้อประโยชน์กับคนในวงการนั้นเอง ตัวอย่างเช่น อ้อย ที่ พรบ. อ้อยของเราใช้ของอัฟริกาใต้เป็นต้นแบบ ตัว พรบ. อ้อย เองกำหนดเรื่องการควบคุมไว้เต็มไปหมด คือในภาคทฤษฎีจะมีการกำหนดปริมาณการปลูกอ้อย กำหนดว่าใครจะมีสิทธิ์การปลูกอ้อยได้บ้าง แล้วก็ใครจะมีสิทธิ์ตั้งโรงงานอะไรได้บ้าง

ในภาคปฏิบัติของเราการจำกัดปริมาณไม่เกิดในทั้งสองฝั่ง ฝั่งชาวไร่ไม่มีใครสนใจบังคับหรือทำตาม ส่วนฝั่งโรงงานแม้ว่าจะมีการควบคุมจริงตรงใบอนุญาต แต่ว่าใบอนุญาตที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการขยายการผลิต เพราะถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จำนวนโรงงานจะไม่เพิ่ม แต่ยอดการผลิตก็เพิ่มโดยวิธีการขอย้ายโรงงานพร้อมกับขยายกำลังการผลิต ซึ่งที่ผ่านมาก็มีเสียงเล่าลือกันว่าใบอนุญาตเหล่านั้นมีราคาของมัน ซึ่งก็อาจจะจริง แต่ราคานั้นก็ไม่ได้ทำให้คนขออนุญาตหมดกำลังใจในการขยาย

ดังนั้น ถ้าเทียบกับอัฟริกาใต้ที่เราลอกเลียนระบบเขามา อัฟริกาใต้เป็นระบบที่ค่อนข้างอยู่กับที่ ไม่ได้ขยายตัวแบบบราซิลหรือไทย ซึ่งเราลอกเลียนระบบเขามา แต่ในช่วงสามปีก่อนตอนที่เราเอาไประบบเขามา เรามีผลผลิตอ้อยปีละ 20 กว่าล้านตัน ปีสุดท้ายก่อนไปเอาระบบเขามาใช้ เราผลิตได้มากเป็นประวัติการณ์คือ 32 ล้านตัน กลายเป็นวิกฤตเพราะโรงงานไม่ยอมซื้ออ้อยเพิ่ม ตอนนั้นก็เลยหันไปหาระบบควบคุม แต่คุมไปคุมมาจากเดิมที่มีอ้อยปีละ 20 กว่าล้านตัน ทุกวันนี้ค่าเฉลี่ยของเราอยู่แถวๆ 100 ล้านตัน ก็คือสามทศวรรษเราเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าตัว

กลายมาเป็นผู้ส่งออกอันดับสองของโลกที่แซงแล้วทิ้งมหาอำนาจอย่างออสเตรเลียได้อย่างขาดลอย ในแง่หนึ่งบางท่านจะบอกว่าเป็นความภาคภูมิใจที่เราประสบความสำเร็จและเติบโตมาได้ขนาดนี้ แต่ในอีกแง่หนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่า ในสินค้าที่มีระบบการควบคุมที่เข้มที่สุด คุณจะย้ายน้ำตาลสักกระสอบต้องมีการบันทึกไว้หมด ก็ยังไม่เกิดการควบคุมจริง เพราะฉะนั้นพืชอื่นก็คงแทบไม่ต้องพูดถึง

ทีนี้ถ้าถามว่า ควรจะมีการควบคุมหรือเปล่า คุณอาจจะได้ยินเรื่อง Zoning ที่ใครต่อใครชอบพูดถึงกันเยอะมาก ถ้าถามว่าจะมีการจัดโซนนิ่งไว้เพื่ออะไร ผมขอพูดก่อนว่าโซนนิ่งแก้อะไรไม่ได้ก่อน ที่แก้ไม่ได้แน่ๆ คือว่าแก้ปัญหาเสถียรภาพราคาไม่ได้ เพราะว่าประเทศไทยเรามีพื้นที่ชลประทานที่มีน้ำใช้ในฤดูแล้งประมาณ 8% เท่านั้น ปีที่น้ำดีๆ ก็จะขึ้นมาหน่อย 10% ต้นๆ แต่ว่าพื้นที่ชลประทานรวมเราก็มีแค่ 17% เพราะฉะนั้นไม่ว่าน้ำมากน้ำน้อย เกษตรของเราในภาพรวมต้องพึ่งธรรมชาติเป็นหลัก พอเป็นแบบนั้น คุณก็ควบคุมผลผลิตไม่ได้

แต่ถามว่าถ้าคุณควบคุมผลผลิตของประเทศไทยได้ คุณคุมผลผลิตของโลกได้หรือเปล่า ถ้าไม่ได้ราคาตลาดโลกก็จะผันผวนตามผลผลิตของประเทศอื่นอยู่ดี ข้าวเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า เราเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 แล้วปีที่ผ่านมาเราก็ลองลดการส่งออกไปจนในบางช่วงแทบจะไม่ได้ส่งออกเลย แล้วบางท่านก็บอกให้คอยดูว่าชาวโลกเขาจะอยู่ได้อย่างไรถ้าไม่มีข้าวของเรา ปรากฏว่าแค่อินเดียเอาสต็อกเขาออกมา ผลกระทบก็หายไปหมด ราคาข้าวต้นปี 2555 ตกต่ำกว่าปีก่อนหน้านั้นอีก มีแต่ข้าวไทยที่ตั้งราคาสูงแต่มียอดขายที่น้อยมาก และก็เป็นโอกาสทองของอินเดียที่ได้ระบายสต็อกของเขาออกมา

SIU: ปัญหาคือเพราะเราไม่รู้ว่าประเทศใดถือข้าวไว้เท่าไหร่ด้วยหรือเปล่า?

ดร.วิโรจน์: เรารู้ครับ! ปกติข้อมูลพวกนี้ไม่ได้เป็นความลับ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลเลย แต่อาจจะอยู่ที่ความเชื่อของคนที่ทำนโยบาย ความเชื่อบางอย่างก็ฝังรากลึก อย่างความเชื่อหนึ่ง ที่บางท่านอาจคิดว่าเป็นทฤษฎีของคุณทักษิณฯ แต่ตามจริงแล้วไม่ใช่ก็คือ ความเชื่อว่าเราสามารถไปตกลงกับประเทศผู้ส่งออกรายอื่นแล้วก็ทำให้ราคาสินค้าดีขึ้น อันนี้เป็นทฤษฎีที่พูดกันมาเป็น 10 ปี และแทบทุกรัฐบาลพยายามทำ แต่ภาคปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการจัดประชุม ถ่ายรูป และออกแถลงการณ์

ที่ทำกันเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุดคือยางพาราที่มีการ ITRC (องค์กรความร่วมมือเกี่ยวกับยางพารา) และบริษัทร่วมทุน International Rubber Consortium Limited (IRCO) ขึ้นมาในประเทศไทย ตั้งขึ้นมาแล้วยางราคาดีเราก็คุยกันสนุกสนาน คนในพรรคไทยรักไทย-พลังประชาชนบางคนเคยคุยถึงขนาดว่า “เราทำให้ยางราคาดีแบบที่ประชาธิปัตย์ไม่เคยทำได้ แต่คนใต้กลับไม่สำนึกบุญคุณเรา” แต่พอราคายางตกลงมา ถามว่าองค์กรนี้ช่วยอะไรได้บ้าง ที่คนในองค์กรทำก็คือมานั่งคุยกันแล้วก็หาทางออกไม่ได้ ก็ใช้วิธีบอกว่าให้ประเทศสมาชิกกลับไปลดการส่งออกประเทศละ 10%

ถามว่ากลับไปมีประเทศไหนลดจริงหรือเปล่า ทุกฝ่ายกลับไปเล่นละคร เราก็เล่นละคร มีการออกระเบียบลดการสั่งออกที่ไม่น่าจะมีผลในทางปฏิบัติ ถึงแม้ว่าข้าราชการของเราบางคนคิดจะบังคับให้ลดการส่งออกจริงๆ แต่โดยรวมแล้วระเบียบก็เขียนออกมาแบบเล่นละคร ก็คือประกาศว่ามีการลด แต่ว่าลดยังไง อะไร ลดจากไหน กติกาต่างๆ เขียนไว้หลวมมาก และถึงแม้มีการกำหนดตัวเลขตั้งโควต้าขึ้นมา แต่ก็แทบจะไม่ได้ต่างจากตัวเลขการส่งออกจริงในอดีต

SIU: เหมือนกับการเล่นทฤษฎีเกมส์แต่ไม่มีใครให้ความร่วมมือกับเรา?

ดร.วิโรจน์: ก็คือไม่มีใครทำ ซึ่งมองในมุมประโยชน์ของประเทศ ทุกประเทศก็ถูกแล้วที่ไม่ทำ ยางธรรมชาติต่างจากยางสังเคราะห์ที่ทำมาจากปิโตรเลียมที่เก็บในดินได้ แต่ยางเราเก็บได้ไม่นานหรือเก็บไม่ดีก็เสื่อม เพราะฉะนั้นก็ไม่มีประเทศไหนที่อยากเก็บ ส่วนข้าวเราเก็บแล้วประเทศอื่นก็แย่งกันขายแทน

ภาพจาก Thai-Farmer
ภาพจาก Thai-Farmer

SIU: ปัญหาหนึ่งที่คนชอบพูดว่าประเทศไทยมีนโยบายพลังงานมันไม่นิ่ง จะมีการส่งเสริมชนิดนั้นทีชนิดนี้ที แต่ไม่มีการประกาศชัดเจนว่าจะไปในทางใดแน่ ทำให้คนที่ปลูกไม่สามารถคาดการณ์ได้ใช่ไหม?

ดร.วิโรจน์: ผมมาทำวิจัยเรื่องอ้อย ก็เลยได้ความรู้เรื่องพวกนี้มากขึ้น คือเวลาเราพูดถึงพลังงานทดแทน เราคงต้องดู 2-3 ประเด็นใหญ่ๆ ประเด็นแรกคือความสามารถของพืชพลังงานในการทดแทนพลังงานฟอสซิล หรือว่าพลังงานปิโตรเลียม เช่นถ้าคุณจะผลิตเอทานอลขึ้นมาแล้วให้พลังงาน 1 หน่วย คุณต้องใช้น้ำมันหรือพลังงานฟอสซิลเท่าไหร่ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือในการผลิตพืชที่ให้พลังงานทดแทน 1 Joule ที่ได้ออกมานั้นคุณต้องใส่พลังงานฟอสซิลเข้าไปเท่าไหร่

เอทานอลในรุ่นแรกๆ ที่อเมริกาผลิตจากข้าวโพดเป็นหลักก็มีการศึกษาและมีการถกเถียงกันมากมาย ค่าที่ได้จากการศึกษาก็มีตั้งแต่ 0.7 0.8 ไปจนถึงประมาณ 1.5 แล้วแต่เทคโนโลยีและวิธีการศึกษาที่ใช้ แต่ถ้าจะพูดโดยคร่าวๆ ก็คือ ในกรณีที่ทำได้ดี ผลลัพธ์ก็ยังถือว่าน่าผิดหวังมาก เพราะในการผลิตเอทานอลที่ให้พลังงานออกมา 1 จูลนั้น ในกรณีที่ทำได้ดีคุณก็ยังต้องใส่พลังงานฟอสซิลเข้าไปประมาณ 0.7-0.8 จูล ซึ่งก็หมายความว่าเอทานอลจากข้าวโพดเป็นพลังงานที่แพงมาก แต่ทดแทนหรือช่วยได้เพียงนิดเดียว

พืชพลังงานที่ดูเหมือนจะได้เปรียบตัวอื่นในการผลิตเอทานอลคืออ้อย ซึ่งมีอัตราการทดแทนที่ดีกว่าข้าวโพด กรณีอ้อย มีการศึกษาหลายชิ้นบอกว่าต้องใส่พลังงานฟอสซิลเข้าไปแค่ครึ่งหนึ่งของที่ได้ออกมา บางทีก็ไม่ถึงครึ่ง ทำให้น่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนมากกว่า แต่จริงๆ ก็ยังมีข้อถกเถียงกัน เช่น สมมุติว่าถ้าเราปลูกอ้อยเพื่อมาทำพลังงานเลยแล้วคุ้ม แต่ถ้าเราปลูกอ้อยเพื่อมาทำน้ำตาลอยู่แล้ว แล้วเราคิดเฉพาะกระบวนการนำกากน้ำตาลหรือโมลาสมาผลิตเป็นเอทานอล ถ้ามองในแง่นั้นอาจจะไม่คุ้มก็ได้

นอกจากนี้ ก็มีพืชบางตัวที่อาจจะยังมีสิทธิ์คุ้ม เช่นในอเมริกา ประธานาธิบดีหลายท่านมักพูดถึงหญ้าชนิดหนึ่ง (Switch grass) ซึ่งว่ากันมาเป็นสิบปีแล้วว่าเป็นความหวังสำหรับอนาคต แต่เอาเข้าจริงก็ยังไม่เกิด คือยังไม่สามารถทำออกมาเป็นเชิงพาณิชย์ได้ แล้วอีกส่วนหนึ่งที่เป็นเทคโนโลยีที่พูดกันเยอะก็คือการผลิตเอทานอลจากเซลลูโลส ตั้งแต่ซังข้าวโพด ชานอ้อย วัสดุเหลือใช้ ไม้ หรือ แม้กระทั่งขยะ

แต่ว่าเอาเข้าจริงพวกนี้ รัฐบาลหลายประเทศส่งเสริมงานวิจัยกันเยอะมาก ของเราก็มีบ้างนิดหน่อย แต่อย่างน้อยในอเมริกาจนถึงบัดนี้ยังไม่มีกรณีไหนที่ได้ผลออกมาในเชิงพาณิชย์ได้เป็นเรื่องเป็นราว บางอันก็ปิดไปแล้วหลังจากที่เอาเงินสนับสนุนภาครัฐไปเป็นพันล้าน นี่คือส่วนแรก คือเรื่องความสามารถของพืชเหล่านี้ในการทดแทนพลังงาน ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีคำตอบทางวิชาการที่ชัดเจนพอ

ประเด็นที่สองคือการผลิตและใช้พืชพลังงานมีส่วนช่วยลดโลกร้อนหรือเปล่า จากกรณีศึกษาอ้อยหรือมันสำปะหลัง ก็ยังให้ผลที่ก้ำกึ่ง เพราะว่ากระบวนการผลิตก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน เวลาเราพูดถึงพลังงานชีวมวล พลังงานชีวมวลที่เราเคยใช้มากแต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือถ่านไม้ เราใช้ชีวมวลมาตั้งนานแล้ว การเผาถ่านคุณก็รู้ว่ามีควันออกไปสู่บรรยากาศมากมาย การศึกษาเรื่องนี้เท่าที่ผมเห็น จากการดูรายงานเรื่องอ้อย ก็ยังไม่เห็นข้อได้เปรียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนว่า เมื่อคิดรวมทั้งชีวิตของกระบวนการผลิตและใช้เอทานอลแล้ว มีผลทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น

SIU: ในมุมสิ่งแวดล้อม กว่าที่เราจะได้เอทานอลมา ปลูกอ้อยอาจจะต้องอัดสารเคมีเข้าไปหรือเปล่า?

ดร.วิโรจน์: อาจจะมีส่วนนั้นบ้าง (สารกำจัดศัตรูพืชหลายตัวก็มาจากปิโตรเคมี) แต่กระบวนการที่พูดถึงกันมากกว่าคือการขยายการปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียและบอร์เนียวทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นหรือเปล่า บางคนสรุปว่าถ้าสามารถปลูกปาล์มเพิ่มได้โดยไม่ตัดป่าเพิ่มก็จะมีผลสุทธิเป็นบวก แต่ถ้ากลับกันผลสุทธิต่อสิ่งแวดล้อมก็จะกลายเป็นลบแทน

ประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งที่คนไม่ค่อยพูดถึงคือเรื่องผลกระทบต่อราคาอาหาร เพราะอย่างการทำไบโอดีเซลจากน้ำมันปาล์ม คุณกำลังเอาน้ำมันเกรดที่กินได้ ซึ่งปกติก็จะแพงกว่ามาผสมใส่รถ เราจะเห็นว่าไบโอดีเซลมักจะพูดกันถึง B2 B4 B5 ไม่ค่อยมีใครเสนอ B40 B50 ซึ่งอาจจะมีปัญหาในเชิงเทคนิคด้วย

แต่ก็มีคำถามว่าตัวพืชพลังงานเองแพงไปหรือเปล่าหรือคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจหรือเปล่า แต่ที่สำคัญกว่าคือว่า คุณเอาพื้นที่ผลิตอาหารมาใช้ อย่างในอเมริกามีการขยายพื้นที่ข้าวโพดมหาศาล แม้กระทั่งหักพื้นที่ที่มีการขยายออกแล้ว ก็ยังมีส่วนที่มาแย่งพื้นที่ผลิตอาหารอยู่ดี หรือถ้าไม่แย่งอาหารคนก็แย่งอาหารสัตว์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มีผลทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น ถึงแม้ราคาที่แพงขึ้นอาจไม่ได้ทำให้คนในอเมริกาเดือดร้อนมาก แต่คนจนในประเทศโลกที่สามได้รับผลกระทบแน่นอน

siu20130423d

SIU: ในเรื่องความมั่นคงทางอาหารก็เป็นปัญหาหนึ่ง เรื่องหนึ่งน่าจะเชื่อมต่อกันได้คือ พอมันมีเรื่องความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้น สุดท้ายนายทุนใหญ่ๆโดยเกษตรกรรม เรื่องของการเกษตรพันธะสัญญาหรือ Contract Farming อย่างตอนนี้สถานการณ์ การ Contract Farming ในประเทศไทยเป็นอย่างไรบ้างครับ

Contract Farming ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเกษตรโดยพื้นฐานมีความเสี่ยงสารพัด มีการเกษตรบางอย่างที่ต้องอาศัยการลงทุนมากขึ้นกว่าเกษตรทั่วไป (ถ้าไม่นับที่ดิน) อย่างเราพูดถึงเรื่องการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู ของคนที่ทำกับ CP โรงเรือนปกติเราก็พูดถึงประมาณล้านหนึ่ง อาจจะต่ำกว่าล้านนิดหน่อยหากคุณใช้วัสดุราคาถูก แต่ว่าเราพูดถึงตัวเลขแถวๆ ล้านหรือหลายล้านบาท ดังนั้น ภาคเอกชนก็สร้างระบบที่มาลดความเสี่ยงลงในระดับหนึ่ง

ตัวอย่างเช่น ถ้า CP หรือใครก็ตามจะจูงใจให้คุณมาลงทุนล้านหนึ่งเพื่อเลี้ยงไก่ขาย เขา ถ้าไม่มีหลักประกันอะไรเลยคุณก็อาจจะไม่ทำ เพราะฉะนั้นก็มีการให้คำมั่นสัญญาระหว่างกันในระดับหนึ่ง แต่ถ้าถามว่าคำมั่นสัญญานั้นดีพอหรือยัง ปัญหาที่ผมเคยพูดไว้ในหลายที่คือ ดูเหมือนบริษัทเหล่านี้ไปลองคิดดูแล้วว่าแค่ไหนที่เกษตรกรอยู่ได้ แล้วอาจจะมีกำไรมากกว่าที่เป็นแรงงานรับจ้างหรือมากกว่าทำเองอยู่นิดหน่อย ซึ่งในสถานการณ์ปกติอาจดีกับเกษตรกรโดยทั่วไป

แต่ว่าถ้าเมื่อไหร่ที่เกิดความเสี่ยงที่คุณไม่ได้คาดการณ์ล่วงหน้า ระบบของเราที่ใช้กันอยู่แทบไม่มีการเฉลี่ยความเสี่ยง หรือแบ่งเบาภาระความเสี่ยงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย อย่างทีมจากเชียงใหม่ที่ไปศึกษา Contract Farming ก็ไปเจอเกษตรกรภาคกลางที่เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู แล้วเจอน้ำท่วมปี 54 ที่นอกจากทางบริษัทจะไม่ได้ช่วยอะไรแล้ว ยังมีบริษัทที่ไปเรียกร้องว่า เนื่องจากคุณเป็นหนี้เรา เพราะฉะนั้นเมื่อไหร่คุณได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลก็ต้องเอามาใช้หนี้เราก่อน จึงไม่แปลกที่เกษตรกรบางรายจะรู้สึกว่าเป็นระบบที่เขาถูกเอาเปรียบ

SIU: อย่างตอนนี้มันจะเข้ามาทดแทนในระบบการเพาะปลูกได้ปกติหรือเปล่า เหมือนทางผู้ผลิตรายใหญ่เขาก็ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงในเรื่องของที่ดินเพราะว่าเขาใช้ที่ดินของชาวบ้านที่มีอยู่แล้ว คือเขาไม่จำเป็นต้องไปกว้านซื้อที่ดินเหมือนเก่าแล้ว เรื่องของการเติบโต Contract Farming ในประเทศไทย ทิศทางอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้างครับ

ดร.วิโรจน์: อย่างที่ว่าไปแล้วคือ Contract Farming ก็มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงให้เกษตรกรในบางด้าน เพราะฉะนั้นก็มีเหตุผลที่จะโตได้ด้วยตัวเอง และจริงๆ บริษัทที่ทำพวกนี้ก็มีข้อดีด้านเทคโนโลยีและการจัดการ อย่างเช่นที่ชอบมีคนว่า CP บังคับให้ซื้อพันธุ์จากเขา แต่ในความเป็นจริงก็คือถึงแม้พันธุ์เขาอาจจะมีข้อจำกัดในบางด้าน เช่น ไก่ตายง่าย ถ้าคุณเลี้ยงในสภาวะที่ไม่เหมาะสม ก็อาจจะมีอัตราตายสูง

แต่ในภาวะปกติประสิทธิภาพของพันธุ์สัตว์ของพวกเขาจะดีกว่าพันธุ์ที่เคยมีมาในอดีตมาก คุณอาจเคยได้ยินศัพท์คำว่า FCR (ซึ่งมาจาก Feed Conversion ratio หรืออัตราการแลกเนื้อ) อัตราปัจจุบันจะอยู่แถว 1.7 หมายความว่าถ้าคุณให้อาหารไก่ไป 1.7 กิโลกรัม ก็จะกลายมาเป็นไก่หนัก 1 กิโลกรัม ซึ่งถ้ามาใช้กับคน เราก็จะมีประสิทธิภาพต่ำ (แต่ผู้ใหญ่เราคงก็ต้องการประสิทธิภาพที่ต่ำอยู่แล้ว) และในทางทฤษฎีอัตรานี้ยังอาจลดลงไปได้ถึง 1.5 ถ้าเปรียบเทียบกับไก่พื้นเมือง

เดิมอาจจะต้องเลี้ยงโดยใช้เวลา 2 เดือนถึง 2 เดือนครึ่งถึงจะได้ 2 กิโล แต่ไก่พวกนี้ใช้เวลาแค่ 40-42 วัน ก็คือในเชิงประสิทธิภาพ บริษัทพวกนี้มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง จนเป็นไปได้ว่าถ้ากรมปศุสัตว์เอาไก่พันธุ์พื้นเมืองไปขายหรือแจกเกษตรกร แต่ไม่มีตลาดสำหรับผลผลิตชนิดไก่ที่ต่างกัน (คือไก่ทั้งสองแบบได้ราคาต่อกิโลกรัมเท่ากัน) เกษตรกรอาจจะไม่สนใจพันธุ์ไก่ฟรีเสียด้วยซ้ำ เพราะแค่คิดว่าค่าอาหารต่างกัน 30 วันเป็นเงินเท่าไหร่ ก็น่าจะมากกว่าราคาพันธุ์ไก่เป็นเท่าตัวแล้ว

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยให้ราคาอาหารไม่แพงขึ้นมาก ผมไม่รู้ว่ารุ่นพวกคุณเป็นอย่างไร แต่รุ่นผมในต่างจังหวัดตอนเด็กๆ มักจะได้กินไก่ย่างเฉพาะตอนที่มีงาน อย่างภาคใต้มีงานเดือน 10 งานเดือน 11 เดือน 12 ถึงจะมีพวกไก่ย่างจีระพันธ์ นิพันธ์มาขาย คือไก่ไม่ได้เป็นโปรตีนราคาถูกเหมือนในปัจจุบัน ทุกวันนี้ก็แพงขึ้นตามเงินเฟ้อ

แต่ถ้าเปรียบเทียบระหว่างไก่ หมู และเนื้อวัว ทุกวันนี้เราถือว่าไก่ถูกกว่าหมูอย่างชัดเจน สมัยก่อนไม่ใช่ ไก่อาจจะแพงกว่าเสียด้วยซ้ำ อันนี้ก็เป็นผลจากเทคโนโลยี ถ้ามองถึงการแก้ปัญหาทุพโภชนาการ (ภาวะการโภชนาการที่ไม่ดี) การที่เรามีโปรตีนที่มีราคาถูก ก็ย่อมมีผลดี เพราะฉะนั้นการขยายตัวส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะมีข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีจริง

ในอีกมุมหนึ่ง ผมคิดว่าปัญหาของ Contract Farming อย่างที่ CP มักจะเคลมมาตลอดว่าในที่สุดแล้วมีเกษตรกรที่ไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้ที่กู้มาสร้างโรงเรือนต่างๆ รวมทั้งพวกที่จ่ายล่าช้า แต่ในที่สุดก็สามารถจ่ายได้ โดยเขาระบุว่าในที่สุดคนที่ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้มีประมาณ 5% ของลูกเล้าเขาเท่านั้น หรืออีกนัยหนึ่งคือคนที่มีปัญหามีเพียงส่วนน้อย และเมื่อเป็นส่วนน้อยเขาก็จะเริ่มมีเหตุผลที่จะบอกว่าในเมื่อคนส่วนใหญ่ทำกันได้แล้วทำไมคุณทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นปัญหาน่าจะอยู่ที่คุณมากกว่าอยู่ที่บริษัท

ซึ่งจริงๆ แล้วก็คงจะมีกรณีแบบนั้น แต่สถานการณ์แต่ละคนก็จะไม่เหมือนกันทีเดียว อย่างเช่นบางรายเคยทำได้ แต่อยู่มาวันหนึ่งมีถนนตัดผ่านแล้วก็ทำให้เกิดน้ำท่วมโรงเรือน หรือปัญหาประเภทเมืองรุกที่เกษตรทำให้เกิดปัญหามลพิษ ก็มีปัญหาตามมา ซึ่งหลายกรณีไม่สามารถคาดการณ์ได้ตั้งแต่ต้น รวมทั้งกรณีไข้หวัดนก แต่ผมเห็นว่าในระบบที่เป็นอยู่มีการเฉลี่ยความเสี่ยงระหว่าบริษัทกับเกษตรกรน้อยเกินไป

ตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือกรณีของญี่ปุ่น มีการศึกษาพบว่าบางโครงการที่สหกรณ์ผู้บริโภคของญี่ปุ่นทำกับสหกรณ์ไทยมีลักษณะของความเป็นหุ้นส่วนมากกว่าการจ้าง และเหมือนมีสัญญาที่ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ได้เขียนไว้ชัดเจน แต่ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าถ้ามีปัญหาอะไรก็จะสามารถมาเจรจาปรับเปลี่ยนเงื่อนไขกันเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอยู่ได้ ซึ่งดูเป็นหุ้นส่วนในความหมายคือหุ้นส่วนจริงๆ ไม่ใช่แบบนายจ้างกับลูกจ้าง ผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือหุ้นส่วนแบบชาวไร่กับโรงงานในอุตสาหกรรมอ้อยน้ำตาล ที่บอกว่าเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้มีความเป็นหุ้นส่วนกันจริงๆ ของไทยเราเองผมคิดว่าถ้าปรับสัญญาให้เป็นสัญญาร่วมลงทุน โดยมีองค์กรกลางมาช่วยดูแลเรื่องสัญญาและการบังคับสัญญา ก็อาจจะช่วยให้ดีขึ้น

แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครทำอะไรมากกว่า ผมก็คิดว่า Contract Farming ก็คงยังมีอยู่ต่อไป เพราะอย่างน้อยผลตอบแทนโดยเฉลี่ยแล้วก็ไม่เลวนักสำหรับเกษตรกร จะได้เห็นว่าในบางเวทีที่เชิญชาวบ้านมาถกกันเรื่องพวกนี้ ซึ่งพักหลังๆ ผมค่อยได้ไปมากนัก แต่ในช่วงประมาณสิบปีก่อนที่ทีมอาจารย์เจิมศักดิ์เคยชวนผมไปรายการเวทีชาวบ้าน ก็เห็นทั้งเกษตรกรกลุ่มที่ไม่พอใจ CP และกลุ่มที่สนับสนุน CP ซึ่งก็หมายความว่าสำหรับบางคน บางกลุ่มเขาก็รู้สึกว่าดีสำหรับเขา ขณะที่บางกลุ่มรู้สึกว่าไม่ดี

SIU: ประเด็นเรื่องข้าวในอาเซียนที่มีการแข่งขันกันสูง ทำให้ปริมาณข้าวมันเพิ่มตามก็ไม่ได้สูงมาก ในประชาคมอาเซียนเหมือนต้องทำภาษีให้เป็นศูนย์ กรณีที่เราปรับภาษีมันจะมีผลอย่างไรบ้างครับ ผลกระทบที่เกิดกับประชากรกับประเทศไทย

ดร.วิโรจน์: ก็ถ้าเราไม่ไปทำอะไรที่เป็นการฝืนตลาดก็จะไม่มีปัญหา เพราะถ้าถามว่ามีแรงจูงใจที่ข้าวเขมร ข้าวเวียดนามมาเข้าเมืองไทยหรือเปล่า ก็คงจะมีบ้าง อย่างข้าวเขมรจะอยู่ใกล้ระบบโลจิสติกส์ระบบการส่งออกหรือแม้แต่โรงสีของเราดีกว่า ก็ย่อมจะมีข้าวเขมรที่วิ่งมาไทยบ้าง

แต่จริงๆ บริษัทข้าวของเราจำนวนหนึ่งก็ไปช่วยส่งออกข้าว คือไปทำธุรกิจในประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว ถ้าจะมีปัญหาที่ข้าวต่างชาติเข้ามาก็คงมีเหตุผลหลักเหตุผลเดียวคือ การนำเข้ามาสวมสิทธิ์ขายในโครงการจำนำข้าวที่เราตั้งราคาไว้สูงผิดปกติ แต่ในประเด็นนี้ ถ้าบอกว่าเป็นความผิด ความผิดก็ไม่ได้อยู่ที่ภาษีเป็นศูนย์ แต่อยู่ที่รัฐบาลเองพยายามจะยกระดับราคาข้าวในประเทศไทยสูงกว่าข้างนอก ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่จะมีแรงจูงใจที่จะลักลอบเอาข้าวข้ามชายแดนมา

SIU: อันนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยภายในเราเป็นหลักด้วย ส่วนที่ลดภาษีเป็นศูนย์ เท่าที่ผมโทรไปคุยกับเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าจริงๆแล้วภาษีเป็นศูนย์ เวลานำข้าวเข้ามา ภาษีจะเป็นศูนย์ได้ก็ต่อเมื่อประเทศไทยผลิตไม่เพียงพอ หรือจะนำเข้าจากข้างประเทศมาก็คือต้องขออนุญาตจากกรมส่งเสริมการส่งออกเขียนความจำนงไปต้องการจะนำเข้าเพราะด้วยเหตุผลใด ซึ่งมันค่อนข้างยุ่งยาก

ส่วนใหญ่ที่เขาเอาเข้ามาจะเป็นข้าวคุณภาพต่ำ เพื่อมาทำพวกเส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ โจ๊ก ซึ่งก็เท่ากับว่า 0% อาเซียนก็เท่ากับว่าไม่ได้ส่งผลอะไรต่อชาวนาไทยเลยหรือเปล่าครับ

ดร.วิโรจน์: ก็เหมือนอย่างที่ผมพูดไปแล้วว่าเรามีมาตรการเล่นละครกันเยอะ คือว่าในทางปฏิบัติก็เหมือนกับว่าเรามีนโยบายไม่ยอมให้นำข้าวเข้ามา พูดจริงๆ ถ้าบอกว่าข้าวคุณภาพต่ำแล้วเราต้องเอามาจากต่างประเทศหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ข้าวคุณภาพต่ำที่มีอยู่ในภาคกลาง เราก็ปลูกกันเยอะ ข้าวคุณภาพต่ำในสายตาคนไทยคือข้าวแข็งกินไม่อร่อย

แต่เรื่องของเรื่องก็คือเราอาจจะมีภาษีศูนย์จริง แต่ในทางปฏิบัติก็คือเรากีดกันการนำข้าวเข้า แล้วที่ผ่านมาเราก็คอยตามจับคนที่แอบเอาข้าวเข้ามาตามชายแดน คือเราไม่ได้เปิดจริงด้วยซ้ำ ถามว่าถ้าเปิดจริงจะมีผลเสียหรือเปล่า ถ้าเปิดโดยที่เราไม่ได้มีนโยบายรับจำนำข้าวในราคาสูงก็จะไม่มีผลอะไร เพราะถึงแม้ว่าอาจจะมีข้าวเขมรเข้ามาบ้าง แต่ถ้าเข้ามาเพราะสะดวกหรือราคาเราดีกว่าเขา โดยตลาด โดยธรรมชาติ ชาวนาเขมรจะส่งข้าวมาขายเราบ้างมันไม่ได้เสียหายอะไร

SIU: หมายความว่าปัจจัยหลักน่าจะเป็นโครงการของรัฐบาลมากกว่า เช่น โครงการรับจำนำข้าว อย่างที่เราทราบกันว่าต้นทุนในการผลิตข้าวต่อไร่ต่อตันทั้งหลายของเราค่อนข้างสูง แต่ถ้าเกิดเป็นไปตามทฤษฎีว่าให้นำเข้าได้ 0% แสดงว่าเราจะมีปัญหาหรือเปล่าครับ?

ดร.วิโรจน์: ต้องอย่าลืมว่าที่ผ่านมา ที่บอกว่าเราเป็นผู้ส่งออกข้าวเบอร์ 1 ของโลก ก็อยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ก็แน่นอนว่าต้นทุนบางด้านของเราสูงกว่าเขา แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่าง อย่างถ้าคุณอยู่กัมพูชา คุณก็คงซื้อน้ำมันแพงกว่าในประเทศไทย สินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตหลายอย่างที่เขาต้องนำเข้าจากเราก็จะแพงกว่าเรา ค่าแรงแน่นอนว่าถูกกว่าเรา พวกปุ๋ย ยา น่าจะแพงกว่าเรา ผมก็ไม่ได้ติดตามว่ารัฐบาลเขามีมาตรการอุดหนุนอะไรพวกนั้นหรือเปล่า ถ้าไม่มีแล้วต้องซื้อผ่านเรา ก็จะแพงกว่าเรา

แต่ว่าเรื่องต้นทุนการเกษตรอาจจะต่างจากธุรกิจอื่นตรงที่ว่าต้นทุนมีความแปรปรวนมากกว่าในอุตสาหกรรม คือในภาคอุตสาหกรรม น้ำอัดลมต่างๆ ถ้าไม่พูดถึงสูตรของหัวเชื้อของแต่ละยี่ห้อ จะมีกระบวนการที่คล้ายๆ กัน ต้นทุนแต่ละบริษัทจึงไม่ต่างกันมาก

แต่เกษตรกรต้นทุนอาจจะต่างกันมาก ถ้าผมไปทำเกษตรต้นทุนผมก็คงจะสูงกว่าเกษตรกรที่เขาทำๆ กันอยู่ สิ่งที่เกิดจริงเป็นแบบนี้ เมื่อไหร่ที่ราคาสูง เราก็จะมีเกษตรกรเพิ่มขึ้น บางคนอาจจะไม่ได้ทำการเกษตร แต่ว่าพอมีจำนำข้าว 15,000 ก็หันไปปลูกข้าวกันเพิ่มขึ้น ถ้าราคาตกต่ำลง คนจำนวนหนึ่งก็จะถอยออกมา เพราะฉะนั้นปัญหาของเราที่เกิดขึ้น ก็คือราคาเป็นตัวกำหนดต้นทุน

ถ้าคุณเรียนเศรษฐศาสตร์ พวกทฤษฎีคลาสสิก ตั้งแต่สมัยริคาร์โด ก็บอกว่าราคาเป็นตัวกำหนดค่าเช่าที่ดิน ถ้าราคาต่ำ ที่ดินบางส่วนที่ไม่อุดมสมบูรณ์จะถูกปล่อยทิ้งไว้ และมีค่าเช่าเท่ากับศูนย์ ที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์กว่าถึงมีค่าเช่าเกิดขึ้น ในเมืองไทยช่วงนี้คุณจะเห็นว่าพอราคาข้าวสูงขึ้น ค่าเช่านาก็ขึ้นตามเพราะเมื่อราคาข้าวสูงขึ้น คนก็อยากทำนามากขึ้น และมีคนที่ยอมจ่ายค่าเช่าในราคาที่สูงขึ้น และอาจจะยอมจ่ายค่าปุ๋ยในราคาที่สูงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ราคาจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุน ไม่ใช่ต้นทุนเป็นตัวกำหนดราคา

อย่างเกษตรกรเวียดนามที่เขาต้นทุนต่ำกว่าเรา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาขายได้ราคาต่ำกว่าเราด้วย แม้กระทั่งราคารัฐบาลบอกให้โรงสีซื้อ เข้าใจว่าเมื่อปีที่แล้วน่าจะอยู่ที่ตันละ 7,000 บาท

SIU: หากพูดถึงราคากำไร สมมุติเวียดนาม หากกำไรเขามากกว่าเราถ้าเทียบอัตราสัดส่วนเป็นเปอร์เซ็นต์

ดร.วิโรจน์: ผมเคยดูในบางสารคดี เช่นที่ทีวีไทยไปทำ แล้วลองมาบวกเลขดูแล้วคิดว่าราคาไม่น่าจะดีเหมือนที่เขาคุย อย่างสารคดีที่บอกว่าชาวนาเวียดนามขายข้าวได้ราคาเท่านั้น มีต้นทุนเท่านี้ กำไรกี่ % แต่ชาวนาส่วนใหญ่มีพื้นที่เพาะปลูกน้อยมาก คิดออกมาแล้วรายได้ต่อปีน่าจะต่ำกว่าชาวนาของเรามาก ถึงแม้ว่ากำไรคิดเป็นเปอร์เซ็นต์อาจสูงกว่าก็ตาม

ภาพจาก ThailandExhibition
ภาพจาก ThailandExhibition

SIU: ในเมื่อเราจะเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เราจะเห็นว่าเวียดนามจะเน้นปลูกข้าวคุณภาพกลางๆ ขายในราคาไม่แพงมาก อย่างที่เริ่มมาแรง คือ กัมพูชา กับพม่าได้แชมป์ข้าวคุณภาพดี 2 ปีหลัง จะเห็นว่าหลายประเทศมุ่งเน้นปลูกข้าวคุณภาพ อาจารย์คิดว่าสุดท้ายไทยควรจะมีทิศทางอย่างไรในการปลูกข้าว หรือเราควรจะไปทำอย่างอื่นที่ได้กำไรมากกว่านี้ คือปลูกข้าวแค่คนในประเทศพอ หรือเลือกปลูกเฉพาะที่มันได้ราคา

ดร.วิโรจน์: ก็คงปลูกอย่างไรให้ได้กำไรมากขึ้น เรื่องที่ผมเห็นตรงกับ NGOs อยู่เรื่องหนึ่ง ก็คือการที่เป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตามจริงก็เห็นด้วยกับรัฐบาลที่พูดด้วยว่าไม่ควรสนใจการเป็นเบอร์หนึ่งควรดูที่มูลค่าดีกว่า แต่ก็ต้องเป็นมูลค่าที่ชาวนาทั่วไปทำได้จริง ไม่ใช่มาบอกว่ามีข้าวที่เขาขายได้กิโลละพัน แต่ถ้าในที่สุดแล้วทั้งประเทศสามารถส่งออกในราคานั้นได้แค่ 100 ตันต่อปี ก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะเอามาพูด

ประเด็นเรื่องกำไรอีกประเด็นที่พูดไปแล้วก็คือราคาเป็นตัวกำหนดต้นทุน ถามว่าถ้าทำให้ราคาสูงขึ้น จะแก้ปัญหาความยากจนของชาวนาให้หมดไปหรือเปล่า ผมคิดว่าอาจจะแก้ได้บางส่วน แต่ถึงอย่างไรก็แก้ได้ไม่ทั้งหมด เพราะทุกวันนี้คนไทยโดยรวมๆ ยังมีฐานะความเป็นอยู่ที่ไม่ได้ดีมากจนทำให้แรงจูงใจทางด้านการเงินจะแรงพอที่จะทำให้มาลบล้างผลทางบวกที่เกิดจากมาตรการต่างๆ ไปได้เยอะ

ตัวอย่างเช่น เมื่อคุณยกราคาข้าวขึ้นเป็น 15,000 ก็จะมีชาวนาจำนวนหนึ่งมาผลิตข้าวเพิ่ม โดยต้นทุนของคนที่มาท้ายๆ อาจจะเฉียดๆ 15,000 เหลือกำไรนิดหน่อยเขาก็พร้อมที่จะทำแล้ว คนกลุ่มนี่ก็จะยังคงเป็นชาวนาที่จน ถึงแม้ว่าคนที่ทำอยู่เดิมก็อาจจะมีกำไรมากขึ้นและลืมตาอ้าปากขึ้นได้บ้าง

มีคนจำนวนหนึ่งพร้อมที่จะปลูกข้าวเพิ่ม ที่มีการเถียงกัน บางท่านบอกว่าไม่มีหรอก ผมยืนยันได้ว่าไม่จริง ถ้าถามว่านโยบายจำนำข้าวจะทำให้ผลผลิตข้าวเราเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพิ่มแน่ๆ ครับ ยกเว้นในกรณีเดียวคือว่า โดนเพลี้ยกระโดดลงทำให้เสียหายไปมาก แต่ว่ามีคนปลูกเพิ่มแน่ๆ อยู่แล้ว คุณเห็นข่าวไหมว่าตอนนี้กรมการค้าภายในบอกว่าจะรับจำนำข้าวที่อายุ 110 วันขึ้นไปเท่านั้น ไม่เอาข้าว 75 วันแล้ว

SIU: ผมว่าเรื่องการปลูกควรจะปลูกอย่างน้อย 2 ครั้งถือว่าจำนวนถี่ที่สุดแล้ว เท่าที่คุยกับชาวนา ชาวนาบอกว่าถ้าปลูก 3 ครั้งข้าวได้น้อยลงกว่าเดิมด้วย เพราะดินไม่ได้พักเลย อาจารย์คิดว่าจำกัดจำนำปีละ 2 ครั้งจะช่วยเรื่องนี้ได้หรือเปล่าครับ ส่วนแนวคิดเรื่องประกันราคาก็มีข้อผิดพลาดเหมือนวาทกรรมทีว่า เป็น “การทำนาบนกระดาษ” ที่แจ้งเฉพาะพื้นที่ปลูกแต่ไม่มีผลผลิตจริงๆ ใช่ไหมครับ?

ดร.วิโรจน์: จริงๆ แล้วถ้าเทียบจำนำกับโครงการเดิมที่เรียกว่าโครงการที่เรียกว่าประกันรายได้ที่ประชาธิปัตย์เอามาใช้ ผมคิดว่าโครงการก่อนดีกว่าและสามารถทำให้ดีกว่านั้นได้ แต่แบบที่เขาเคยทำกันนั้น ผมก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ก็มีปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่ผมคิดว่าไม่ได้คิดเผื่อเอาไว้หรือไม่ได้คิดว่าจะเป็นปัญหามากก็คือเรื่องของการเช่าที่ดิน เนื่องจากโครงการนั้นให้ความช่วยเหลือ “ชาวนา” ปัญหาคือใครคือชาวนา พอให้ราชการจดทะเบียน ใครมีหลักฐานแสดงว่าเป็นเจ้าของที่ดิน ราชการก็มีแนวโน้มยึดตามพวกนี้อยู่แล้ว

เหมือนกับการยึดตามทะเบียนบ้านก็กลายเป็นว่าโครงการไปเอื้อประโยชน์กับเจ้าของที่ดินไม่ได้ปลูกข้าวเอง ซึ่งเกิดเยอะเหมือนกัน อันนี้เป็นข้อเสียที่สำคัญที่ทำให้โครงการที่น่าจะถูกใจชาวนามากกว่าโครงการจำนำ (ยกเว้นในส่วนของราคาที่โครงการจำนำตั้งไว้สูงกว่าที่ 15,000) แต่ว่าชาวนาจำนวนหนึ่งไม่ชอบ ซึ่งส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากปัญหานี้

SIU: เป็นเพราะสาเหตุนี้ด้วยหรือเปล่าครับ ที่มีราคาอ้างอิง รัฐคำนวณเลยว่า ที่ดิน 1 ไร่ จะปลูกข้าวได้เท่าไหร่ รัฐจะให้ราคาอ้างอิงว่า ไม่ต้องเอามาขายรัฐ อ้างอิงว่าข้าวประมาณ 8,000 บาท แต่เมื่อชาวนาไปขายจริง ปรากฏว่าขายได้แค่ 5,000 บาท ซึ่งบางครั้งข้าวก็มีคุณภาพไม่สูงพอ และก็เกิดส่วนต่าง

ดร.วิโรจน์: ก็เหมือนกับในปัจจุบันที่ว่ามีใครได้เต็ม 15,000 บาท หรือ 20,000 บาทบ้าง ถ้าจะบอกว่าเดิมราคาอ้างอิงสมมุติว่ามีราคาเดียว คือในความเป็นจริงนั้นข้าวในแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยโดยธรรมชาติจะมีราคาเท่ากันไม่ได้ เขตไหนที่มีข้าวเหลือส่งออกไปที่อื่นราคาก็จะต่ำ เขตไหนต้องนำเข้าข้าวราคาก็จะแพง ถ้าจะให้ราคาตรงกับความเป็นจริงก็ต้องประกาศราคาทุกอำเภอ ทุกจังหวัด

แต่ว่าแนวคิดของโครงการนั้นจะเน้นไปที่ ถ้าปีนี้ข้าวราคาตกก็จะชดเชยส่วนที่มันตกให้ ซึ่งปกติเวลาราคาตกก็จะตกทั้งประเทศ ปัญหาจึงไม่ได้สำคัญที่ว่าขายได้จริงเท่าไหร่ ถ้าราคาตกประมาณหนึ่งก็จะชดเชยให้ประมาณเท่านั้น ถึงอาจจะเถียงกันได้อีกว่าราคาตกที่สุพรรณมากเท่ากับตกที่โคราชหรือเปล่า แต่ปกติเวลาตลาดทำงานส่วนต่างนี้จะไม่ต่างกันมาก

SIU: สุดท้ายแล้วอาจารย์คิดว่ามาตรการที่ช่วยเหลือเกษตรกรมันยังควรจะมีอยู่ไหมครับ

ดร.วิโรจน์: ผมยืนยันมาตลอดว่า ถ้าเราไม่ได้พูดถึง Contract Farming การเกษตรมีความเสี่ยงในระยะสั้นมากพอสมควร ถ้าเทียบกับมนุษย์เงินเดือนอย่างกับพวกเรา ชาวนาต้องลงทุนไปก่อน ถ้าปลูกข้าวนาปรัง 120 วัน ต้องลงทุนประมาณ 4 เดือน นี่คือสั้นแล้ว แต่ถ้าเป็นหอมมะลิก็อย่างน้อย 7-8 เดือน ระหว่างตอนที่เขาลงทุนกับตอนที่เขาขายข้าวได้ ก็อาจมีความเปลี่ยนแปลงหรือความเสี่ยงบางอย่างที่อาจจะมากระทบเขาได้แรงพอสมควร แล้วชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีฐานะดีมาก ถ้ารัฐมีกลไกอะไรที่จะช่วยให้เขาลดความเสี่ยงลงได้ ก็เป็นสิ่งที่รัฐน่าจะทำ

แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลต่างๆ พยายามไปยกระดับราคา เพราะการยกระดับราคาไม่ได้แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรโดยระยะยาว โดยเฉพาะประเทศที่ผลิตข้าวเหลือขายส่งออก การยกระดับราคาจูงใจให้คนมาเป็นเกษตรกรมากขึ้น เกษตรกรจำนวนหนึ่งอาจจะลืมตาอ้าปากขึ้น แต่ก็จะมีอีกจำนวนหนึ่งที่จะมีปัญหาแบบเดิม

ในระยะยาวควรปล่อยไปตามกลไกตลาด แต่ในระยะสั้น ฤดูต่อฤดู ก็ควรจะมีการรับประกันความเสี่ยงตรงนี้ ซึ่งมาตรการที่ประชาธิปัตย์เอาไปทำก็มาจากแนวคิดนี้ แต่เขาเอาไปใช้แค่ครึ่งเดียว เพราะพอเข้าไปทำ เขาก็ต้องไปแข่งกับนโยบายรับจำนำข้าวเดิมของพลังประชาชน เพราะฉะนั้นพอเขาไปทำเขาก็ไม่ได้ไปใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยง แต่บอกว่าจะไปยกระดับราคาข้าวจะไปเพิ่มกำไรให้ ซึ่งไม่ว่านโยบายไหนเอาไปทำแบบยกระดับราคา ก็จะให้ผลกลับมาทำนองเดียวกัน

อย่างเรื่องชาวนาปลอม ถ้าคุณไม่ไปยกระดับราคา ก็จะไม่เกิดแรงจูงใจให้คนมาลงทะเบียนเป็นชาวนาปลอม ส่วนมาตรการยกระดับราคาแบบที่รัฐบาลเพื่อไทยทำอยู่ตอนนี้น่าจะสร้างปัญหาหนักกว่าเก่าเสียอีก ถึงตอนนี้ผมเชื่อว่า จริงๆ แล้วรัฐบาลเองก็เห็นปัญหาแล้ว แต่คงอยู่ในสภาพที่ขี่หลังเสืออยู่ คงมีคนที่อยากจะลงจากหลังเสือเหมือนกันแต่ก็ยังไม่กล้ายกเลิกโครงการนี้


ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ Siam Intelligence วันที่ 23 เมษายน 2556 ในชื่อ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง: นโยบายจำนำข้าว ประกันราคา ทิศทางที่ไทยควรเลือกเดิน

นักวิจัย

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ