tdri logo

Notice: Undefined offset: 0 in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 229

Notice: Trying to get property 'term_id' of non-object in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 241
17 พ.ค. 2013
Read in Minutes

Views

2 ล้านล้านกู้ล่อใจคอรัปชั่นระดับชาติ

“เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ลงทุนอย่างไรให้โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ :  นโยบายของรัฐและบทบาทของประชาสังคม” เป็นโครงการ วิจัยภายใต้ “คู่มือประชาชนรู้ทันคอรัปชัน” จัดโดย สถาบันวิจัย เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

อิสร์กุล อุณหเกตุ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า 2 ล้านล้านฯเป็นเงินมหาศาล การลงทุนถ้ามีการ คอรัปชันอาจนำไปสู่ปัญหาหนี้สาธารณะในระดับสูง…จะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับประชาชนเนื่องจากสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพต่ำ

นับรวมไปถึงเบียดบังงบประมาณในการใช้จ่ายภาครัฐในประเด็น อื่นๆ เช่น การศึกษา การสาธารณสุข ยิ่งไปกว่านั้นการลงทุนถ้าไม่มีประสิทธิภาพ โครงการก็อาจไม่เกิดขึ้นจริง เหมือนกรณีโฮปเวลล์

300

เมื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีการคอรัปชันก็จะเพิ่มรายจ่ายภาครัฐในการบำรุงรักษา ข้อสังเกตการลงทุนถ้ามีการคอรัปชันจะเกิดขึ้นในขั้นตอนการดำเนินการโครงสร้างพื้นฐาน 3 ขั้นตอนหลัก ขั้นแรก… ก่อนการดำเนินโครงการ ขั้นที่สอง…ตอนดำเนินโครงการ และ ขั้นสุดท้าย…หลังจากที่มีการดำเนินโครงการไปแล้ว

อิสร์กุล บอกว่า ประเด็นขั้นก่อนการดำเนินโครงการ ข้อควรระวัง ที่จะเกิดการคอรัปชันได้เริ่มตั้งแต่การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ทุกโครงการจะต้องมีการจัดการการศึกษาความคุ้มค่าว่า เหมาะสมเพียงใด

“การจัดซื้อจัดจ้าง”…ปัญหาที่ตามมาว่ามีการศึกษาความเป็น ไปได้ ศึกษาได้เหมาะสม ชัดเจนมากน้อยขนาดไหน ประเด็นต่อมา “แนวทางการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน” ซึ่งจะต้องเริ่มตั้งแต่การคำนวณมูลค่าโครงการ

โครงการขนาดใหญ่มูลค่าตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน ปัญหาที่ควรระวังคือ การคำนวณมูลค่าโครงการว่าถูกต้องหรือไม่

นอกจากนี้เป็นเรื่องการจ้างเหมาเบ็ดเสร็จที่เรียกว่า “โครงการเทิร์นคีย์ (Turnkey Project)” ที่ไม่เข้าข่ายที่จะต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน แล้วยังต้องมองไปถึงการศึกษาผลกระทบของโครงการ ด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) กับการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพ

ประเด็นปัญหาสำคัญคือความพยายามหาช่องเลี่ยงเพื่อคอรัปชันถ้าเริ่มส่อเค้าตั้งแต่แรกเริ่มดำเนินการ ต้องจับตาไปที่การศึกษาปัญหาการที่จะสามารถประมาณการโครงการ ความเป็นไปได้…ได้ถูกต้องขนาดไหน

ปัญหาที่พบ 2 ข้อหลักๆ เวลาคำนวณความเป็นไปได้ต้นทุนที่เป็นต้นทุนหลักๆจะมีต้นทุนเฉลี่ยสูงกว่าการคาดการณ์ โดยเฉพาะในกรณีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการคมนาคม ขนส่ง เช่น ระบบราง สะพาน อุโมงค์ ถนน

ปัญหาประการที่สอง…การคำนวณจำนวนผู้โดยสารจริงกับผู้โดยสารคาดการณ์ ยกตัวอย่างระบบราง ผู้โดยสารจริงน้อยกว่าที่คาดการณ์ เป็นจำนวนมาก ถ้าพิจารณา พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านฯ การลงทุน ส่วนใหญ่ก็พุ่งเป้าไปที่ระบบราง ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่า…จะส่อเค้าเกิดช่องว่างให้ทุจริต คอรัปชันกันได้หรือไม่

ประสบการณ์คอรัปชันโครงการใหญ่ยักษ์ที่เกิดเป็นเรื่องเสียค่าโง่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า…ในเมื่อการศึกษาความเป็นไปได้มีปัญหาในตัวของมันเอง กระบวนการคอรัปชันก็อาจจะทำให้การศึกษาโครงการผิดเพี้ยนไปจากเดิม

กรณีศึกษา “โรงไฟฟ้าบางคล้า”…กรณีนี้เอกชนได้สัมปทาน ลงนามซื้อขายไฟฟ้ากันแล้ว แต่ไม่ได้ส่งการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ตรวจสอบ เมื่อถูกคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถเข้าสำรวจเพื่อทำการศึกษาได้ ในที่สุดโรงไฟฟ้าไม่เกิดขึ้น…แต่สามารถย้ายพื้นที่ตั้งได้ โดยไม่ถือว่าผิดเงื่อนไขการประมูล

Train

กรณีต่อมา “โครงการศูนย์กลางระบบขนส่งมวลชนทางบกบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเดิม” ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า…สัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นโมฆะ

ถึงตรงนี้ อิสร์กุล ย้ำว่า ทั้ง 2 กรณีเป็นการคอรัปชันที่เกิดขึ้นก่อนขั้นตอนการดำเนินการ แต่ในขั้นดำเนินการจะแบ่งการคอรัปชันได้เป็น 2 ด้าน…การจัดจ้างภาครัฐ อาจจะมีปัญหาตั้งแต่ขั้นตอนการยกร่างทีโออาร์ การล็อกสเปก การคำนวณราคากลาง ขณะที่ด้านการร่วมทุนกับภาคเอกชนก็จะมีปัญหาการคัดเลือกผู้ดำเนินโครงการ ปัญหาการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐ/เอกชน

“ขั้นตอนต่างๆเหล่านี้ ถ้าเป็นไปอย่างไม่โปร่งใสก็อาจนำไปสู่การคอรัปชันได้”

กรณีศึกษา “โรงบำบัดน้ำเสียคลองด่าน” เป็นการลงทุนแบบจ้างเหมาเบ็ดเสร็จ…โครงการเทิร์นคีย์ หลังจากที่บริษัทที่ปรึกษาและคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการแล้ว ก็มีการเปลี่ยนแปลงโครงการภายหลัง

โดยกระทรวงที่เป็นเจ้าของโครงการ พอมีการเปลี่ยนแปลง รายละเอียดโครงการทั้งที่ตั้ง รูปแบบระบบบำบัดน้ำเสียก็ทำให้บริษัทที่เข้าร่วมประกวดราคารายอื่นๆถอนตัว เหลือเพียงบริษัทที่รัฐมนตรีถือหุ้นอยู่ด้วยเพียงรายเดียว

นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขสัญญา เพิ่มวงเงินงบประมาณทำให้ท้ายที่สุด…รัฐสูญเสียงบประมาณไป 23,000 ล้านฯ แต่ว่าโรงบำบัดน้ำเสียที่คลองด่านก็ไม่ได้เกิดขึ้น

ถัดมา…กรณีสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 อาจไม่ใช่การคอรัปชันตรงๆ แต่ก็ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างรัฐกับเอกชนเนื่องจากตอนที่คัดเลือกเอกชนผู้ร่วมทุนก็ใช้วิธีการคัดเลือกแทนที่จะเป็นการประมูล

รายละเอียดส่วนแบ่งค่าผ่านทางที่ควรได้ ก็จะไม่ได้เป็นเกณฑ์สำคัญในการพิจารณา

ผลในท้ายที่สุด การทางพิเศษก็ได้รับส่วนแบ่งน้อยกว่าที่ควร จะเป็น

ขั้นตอนสุดท้าย เป็นขั้นตอนหลังการดำเนินโครงการ หมายถึง… ตั้งแต่การตรวจรับงาน ตรงตามสัญญาหรือไม่ ลดคุณภาพการก่อสร้างหรือไม่ ประเด็นสำคัญอยู่ที่การแก้ไขสัญญา การต่อ การบังคับให้เป็นไปตามสัญญา รวมถึงการบอกเลิกสัญญา เหมือนกรณีศึกษาเสียค่าโง่ระดับชาติ… “โครงการโฮปเวลล์”

สรุปได้ว่า…มูลเหตุปัญหาคอรัปชันเกิดจากความตั้งใจใช้ช่องว่างกฎหมาย สัญญาที่หละหลวม…โดยเฉพาะการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ กำหนดหลักเกณฑ์กลางที่จำเป็นในการศึกษาความเป็นไปได้

“กรณีเป็นการให้บริการต่อประชาชน กรณีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะเกิดขึ้น จะต้องมีวิธีการกำหนดราคา ความถี่ของการให้บริการ ควรจะต้องมีค่าพารามิเตอร์กลางอัตราคิดลดว่าเป็นอย่างไร หลังจากศึกษาแล้วควรเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบก่อนที่จะสรุปให้ดำเนินการ”

เรื่องธรรมาภิบาลโครงการลงทุน เสนอว่า…ควรสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน สร้างความโปร่งใส การลงทุนผ่านการเปิดเผยข้อมูลทั้งในการจัดจ้างโดยภาครัฐ รวมทั้งการร่วมทุนกับภาคเอกชน เป็น “สัญญาคุณธรรม”

เมืองไทยปัญหาคอรัปชันเป็นเรื่องเรื้อรัง ซับซ้อน…จะเอาแค่ลมปากมายืนยันความโปร่งใส บริสุทธิ์ใจ…ไม่ทุจริตไม่ได้แล้ว


ที่มา: แก้ไขจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเรื่อง “2.2ล้านล้านกู้ล่อใจคอรัปชั่นระดับชาติ” วันอังคารที่ 14 พฤษภาคม 2556

เรื่องที่คุณอาจสนใจ