ตัวแทนชาวนาเตือน ‘ยกเลิก-ถอยหลัง’ ไม่มีใครยอม เสนอทำเป็น 2 ระบบทั้งจำนำ-ประกันราคา จี้รัฐบาลลดทิฐิ ด้าน TDRI ชี้ครึ่งทางโครงการจำนำข้าว รัฐบาลทำไม่ได้อย่างที่พูด ชี้ ‘ยกระดับราคา’ สร้างปัญหาระยะยาว แนะทางออกใช้ ‘ประกันความเสี่ยง’ ช่วยเกษตรกร
ประเด็นร้อนโครงการรับจำนำข้าว ฝ่ายค้านจี้รัฐบาลเปิดบัญชีโครงการฯ เพื่อชี้ชัดๆ ตัวเลขการขาดทุนกำลังอยู่ในกระแสความสนใจ ขณะที่รัฐบาลรับสภาพกับปัญหา แสดงท่าทีเตรียมลดราคาจำนำข้าวในเร็ววันนี้ ทุกความเคลื่อนไหวจากฝากฝั่งการเมืองสั่นคลอนความรู้สึกของชาวนาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเต็มประตู
แน่ชัดว่าโครงการนี้มีขึ้นมาเพื่ออุ้มชูชาวนา และมันก็ได้ผลเป็นอย่างดี ชี้วัดได้จากการร้างราของม็อบชาวนาบทท้องถนน ทั้งนี้ แม้จะเป็นการยากหากรัฐบาลจะล้มโครงการไป แต่ปัญหาของการดำเนินโครงการในส่วนตาชาวนาก็ใช่ว่าจะไม่มี การเปิดเวทีคุยร่วมกันของผู้เกี่ยวข้องว่าด้วยเรื่องการจะเดินหน้า-ถอยหลังโครงการรับจำนำข้าวกันอย่างไรจึงมีขึ้น
เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.56 มูลนิธิชีววิถี ร่วมกับแผนงานความมั่งคงทางอาหารจัด เสวนา ‘ข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนโยบายรับจำนำข้าว’ ส่วนหนึ่งในงานสมัชชาวิชาการความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2556 การปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารเพื่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศและชุมชน ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดพื้นที่หลากหลายภาคส่วนร่วมแนะแนวทางการแก้ปัญหา
ตัวแทนชาวนาเตือน ‘ยกเลิก-ถอยหลัง’ ไม่มีใครยอม
ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า เมื่อชาวนา 3.7 ล้านครัวเรือน ประมาณ 20 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศประสบปัญหาความยากจน ถือเป็นภารกิจที่น่าเห็นใจสำหรับทุกรัฐบาลที่จะต้องเข้ามาแก้ปัญหา สำหรับโครงการรับจำนำข้าวในรัฐบาลนี้ถือเป็นโครงการที่ดี เพราะชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่ไม่ขาดทุน แม้จะไม่ได้ราคา 15,000 บาท ตามที่รัฐบาลตั้งไว้ แต่ก็ดีกว่าราคาตามกลไกตลาดที่ 5-6 พันบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้มีจุดอ่อนที่เป็นปัญหาคือ 1.ชาวนาถูกโกงความชื้น จากโรงสีบางแห่ง เพราะเมื่อขนข้าวไปยังโรงสีแล้วได้เท่าไหร่ก็ต้องขาย และตามโครงการยังมีการกำหนดเขตพื้นที่ในการซื้อขายข้าว 2.การออกใบประทวนล่าช้า และ 3.ในคณะกรรมการข้าวแห่งชาติไม่มีตัวแทนชาวนาเข้าร่วม และจากที่ได้ร่วมเป็นอนุกรรมการก็ไม่เคยมีการเรียกประชุมเลย
เสนอทำเป็น 2 ระบบ ทั้งจำนำ-ประกันราคา จี้รัฐบาลลดทิฐิ
ประสิทธิ์ กล่าวถึงกระแสข่าวเรื่องการปรับปรุงแก้ไขโดยปรับปรุงราคารับจำนำว่า ชาวนาหลายคนบอกว่าหากลดราคาคงไม่มีใครยอม หากรัฐบาลไปไม่ไหว กำลังจะถึงทางตัน จะยกเลิกหรือถอยหลังก็ไม่ได้เพราะชาวนาไม่ยอมโดยเด็ดดาด ทางเลือกจะต้องช่วยชาวนาให้อยู่ได้ ไม่ขาดทุน โดยเสนอ 3 แนวทาง คือ 1.ตัดทิ้งจำนำ ‘ทุกเมล็ด’ เปลี่ยนไปใช้โคตาระหว่างครัวเรือน ตั้งวงเงินในครัวเรือน ในสมัยสมัคร สุนทรเวชเคยทำมาแล้ว ตั้งวงเงินครัวเรือนละ 4 แสน
2.หากถึงทางตันจริงๆ ชาวนายอมรับได้ให้ลดราคาลงจาก 15,000 บาท เป็น 10,000 บาท แต่กำหนดความชื้นที่ 25-27 % หากเป็นความชื้นที่ 15 % ต้องกำหนดอีกราคาหนึ่ง และ 3.ทำเป็น 2 ระบบ โดยเปิดโครงการรับจำนำในส่วนภาคกลาง ส่วนภาคอีสานเปิดโครงการประกันรายได้ โดยเอาข้าวไปขายโรงสีไหนก็ได้ ไม่มีขอบเขต
“รัฐบาลจะต้องละทิฐิ แยกพวกกันซักที ท่านบอกว่าจะแก้กฎหมายปรองดองแต่รัฐบาลยังทะเลาะกันตลอดแล้วจะแก้ตอนไหน สิ่งเหล่านี้เราชาวบ้านเราพร้อมจะแก้ไข เราพร้อมจะปรับปรุง แต่รัฐบาล นักการเมืองยังไม่ปรับปรุงตัวเองเลย สส.ยังทะเลาะกันอยู่เลย” ประสิทธิ์กล่าว
ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า หากรัฐบาลจะมีการแก้ไขปรับปรุงนโยบายจำนำข้าว นายกฯ และรองนายกฯ ต้องออกมาชี้แจ้ง และแถลงว่ารัฐบาลจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ต้องยอมรับความจริงหากรัฐบาลจะย่ำแย่ ให้เรียกตัวแทนชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไปร่วมนำเสนอการแก้ปัญหา แล้วทุกสิ่งทุกอย่างจะแก้ไขได้ ซึ่งชาวนาก็คงไม่ร้ายและยอมรับข้อเสนอได้
“ทางออกเรามีให้ แต่จะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาล” ประสิทธิ์ กล่าว
สมาคมโรงสีฯ ถามคนเสียภาษีรับได้ไหม รัฐฯ จ่าย 15,000 เสียหายแสนล้าน
เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เลขาธิการสมาคมโรงสีข้าวไทย เจ้าของบริษัทรุ่งทรัพย์พืชผล เทรดดิ้ง กล่าวว่า โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการเพื่อช่วยเกษตรกร แต่จะช่วยอย่างไรไม่ให้กระทบกับตลาดข้าวส่งออก เพราะกว่าจะส่งออกได้ต้องใช้เวลายาวนาน การที่รัฐบาลจำนำ 15,000 บาท แต่ราคาข้าวในตลาดโลกมันลงหมด ขณะที่เพื่อบ้านอย่างพม่าและกัมพูชาส่งออกมากขึ้น ซึ่งข้าวเป็นพื้นที่ผลิตทนแทนกันได้ ขณะที่มีส่วนแบ่งตลาดไม่มากประมาณ 30 กว่าล้านตัน เมื่อไทยลดลงก็จะมีคนเติมเข้าไป ปัญหาคือเราผลิตแล้วส่งออกไม่ได้ เพราะมีการตั้งกำแพง วันนี้จึงมีผู้ผลิตของเราบางรายไปลงทุนสร้างโรงสีในประเทศเพื่อนบ้าน บางรายไปซื้อข้าวแล้วส่งออก
“รัฐบาลยอมที่จะจ่าย 15,000 แต่ผลเสียหายเกิดขึ้นประมาณ 1 แสนล้าน คนเสียภาษี Happy ไหม ประเด็นมันอยู่ตรงนี้แล้ว และรัฐบาลยอมรับไหมว่าสิ่งที่ตนเองทำมันไม่สามารถรักษาเสถียรภาพของราคาได้ มันทำให้มูลค่าของข้าวลดลง ยอมรับไหมว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนแต่ต้องให้เกษตรกรอยู่ได้” เกรียงศักดิ์ กล่าว
เกรียงศักดิ์ เสนอด้วยว่า เพื่อตอบสนองความต้องการของชาวนา วันนี้เรามีบัตรเกษตรกร เราสามารถเติมการชดเชยเป็นค่าปัจจัยการผลิต เช่น การเตรียมดิน พันธุ์ข้าว ค่าจ้างเก็บเกี่ยว ฯลฯ จ่ายเข้าบัญชีเกษตรกรไปเลยได้ แล้วที่เหลือปล่อยให้ตลาดทำงาน เพราะหากเรายังคิดเหมือนเดิม ยังไปเหมือนเดิม ปัญหาคือข้าวจะอยู่ในบ้านเราเยอะขึ้น และปัญหาคือซื้อแพงขายถูก กลไกลตลาดไม่เดิน ยังไงต้องเปิดช่องว่าให้ตลาดมันไปได้ ข้าวส่งออกไปได้
TDRI ชี้ครึ่งทางโครงการจำนำข้าว รัฐบาลทำไม่ได้อย่างที่พูด
ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า โครงการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ทำขึ้นมาเปลี่ยนจากโครงการจำนำข้าวในอดีตโดยพื้นฐาน แม้ปัจจุบันตัวเลขขาดทุนยังไม่รู้แน่ชัด แต่คาดว่าประมาณ 1.3-1.5 แสนล้านบาท ส่วนแรกเป็นราคาต่างคือการที่ชาวนาขายข้าวได้ในราคาที่สูงกว่าตลาดโลก ซึ่งคาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้าน ส่วนที่เหลือ 3 หมื่นกว่าล้านหรือมากกว่านั้นเป็นการขาดทุนที่มาจากการดำเนินโครงการ
“ถึงปัจจุบัน พูดได้ว่าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือชาวนา แต่เมื่อจบโครงการแล้วจะถึงชาวนาเป็นส่วนใหญ่หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับผลงานการระบายข้าวของรัฐบาลเป็นอย่างไร” ดร.วิโรจน์ กล่าว
ดร.วิโรจน์ ให้ข้อมูลด้วยว่า จากตัวเลขการตอบกระทู้ในสภาเมื่อวันที่ 21 มี.ค.56 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ตอบคำถามฝ่ายค้านว่ามีการขายทั้งข้าวเก่า-ข้าวใหม่ที่มาจากการจำนำ ทั้งสิ้น 7 ล้านตันเป็นเงิน 9.7 หมื่นล้าน เมื่อหารออกมาแล้วพบว่ารัฐบาลขายข้าวสารซึ่งมีข้าวหอมมะลิรวมอยู่ด้วย ในราคาเฉลี่ย 13,750 บาทต่อตัน ขณะที่ตั้งราคาซื้อข้าวเปลือกไว้ที่ 15,000 บาทต่อตัน และข้าวหอมมะลิ 20,000 บาทต่อตัน แม้ราคารับซื้อจริงอาจต่ำกว่านั้นเนื่องจากมีการหักค่าความชื้น
ส่วนการประเมินผลงานโครงการ ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า หากคำนวณจากตัวเลข 7 ล้านตันข้าวสารนั้น มากกว่าครึ่งของตัวเลขข้าวที่เข้ามาแต่ละปี ตรงนี้ถือได้ว่าเลยกลางภาคมาแล้วกำลังใกล้ถึงช่วงปลายภาค ซึ่งพบว่ารัฐบาลขายข้าวได้ในราคาต่ำกว่าตลาดโลก และต่ำกว่าราคาที่ได้เคยประมาณการเอาไว้ สิ่งที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าหลังจากกลายมาเป็นผู้ผูกขาดการซื้อข้าวแล้ว จะใช้อำนาจจากการเป็นผู้ถือข้าวรายใหญ่ แล้วทำให้ราคาตลาดสูงขึ้น และจะขายได้สูงกว่าตลาดโลกนั้นไม่เกิดขึ้นจริง
ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่าเรื่องการระบายเป็นสิ่งที่กังวลมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งได้เคยเสนอแล้วว่าหากรัฐบาลไม่อยากทำตามสิ่งที่ประชาธิปัตย์ทำไว้ รัฐบาลก็ควรจะซื้อข้าวเข้ามาแล้วค่อยทยอยประมูลออกไปสู่ตลาด ซึ่งแน่นอนว่าจะได้ราคาใกล้เคียงกับราคาตลาดโลก ขาดทุนเท่าไหร่นั่นคือรัฐบาลยอมขาดทุนเพื่อชาวนา ซึ่งอาจขาดทุนปีละ 1 แสนล้าน แต่ข้อครหาเรียงการคอรัปชั่นจะไม่มี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลทำคือการเก็บข้าวไว้ขายเองแล้วจะขายข้าวได้ราคาดีซึ่งมันไม่จริง ตรงนี้คนมักมองเป็นเรื่องการโกงกินก่อน แม้ว่าอาจจะมีเกิดขึ้น แต่ประเด็นสำคัญที่คนไม่ค่อยนึกถึงคือการขายข้าวต้องใช้ฝีมือ มีกลไกและเครื่องมือ หากให้พ่อค้ามาประมูลซื้อข้าวต่างคนก็จะประมูลไปขายในตลาดที่ตัวเองถนัด แต่เมื่อรัฐบาลจะขายเองโดยให้กระทรวงพาณิชย์ที่เลิกขายข้าวมากว่า 20 ปีหลังยกเลิกพรีเมียมข้าว (ยกเลิกในปี 2529: คลิกดู) ดังนั้นจึงต้องมีการจ้างเอกชนบางเจ้ามาดำเนินการ ซึ่งก็อาจไม่เก่งในทุกตลาด หรือไม่เก่งเลยสักตลาดก็ได้ จากตรงนี้ทำให้ตัวแทนรัฐบาลตอบคำถามอย่างกระอึกกระอัก
“สิ่งที่พิสูจน์ไปแล้วก็คือว่าที่ทำอยู่มันไปไม่ไหว ที่ขาดทุนส่วนหนึ่งก็เกิดจากซื้อแพงขายถูก ซึ่งแม้ในทางการเมืองผมคิดว่ารัฐบาลที่มาโดยระบอบประชาธิปไตยมีสิทธิ มีอำนาจ และมีหน้าที่ด้วยที่จะกระจายรายได้ แต่ว่ารัฐบาลก็ไม่มีสิทธิที่จะทำโครงการที่มันไร้ประสิทธิภาพ” ดร.วิโรจน์ กล่าว และว่าปัญหาของรัฐบาลนี้อยู่ที่ต้นทุนในการจัดการแพงเกินไป
ส่วนทางแก้ที่หลายคนพูดถึงการจำกัดปริมาณการรับซื้อข้าว ดร.วิโรจน์ แสดงความเห็นว่า จะกลับไปสู่รูปแบบเดิมที่เป็นการโยนอำนาจไปให้โรงสีอยู่เหนือชาวนา สามารถกดราคาชาวนาได้ และมีผู้ใช้อำนาจในการเลือกว่าโรงสีไหนจะเข้าโครงการ ซึ่งผลประโยชน์ก็จะขึ้นอยู่กับอำนาจในการกำกับเป็นชั้นๆ ไป ปัญหาเดิมก็จะกลับมาว่าส่วนแบ่งอาจไม่เข้าสู่มือชาวนา ซึ่งรูปแบบนี้เป็นตัวอย่างของโครงการที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น หายจะถอยไปเป็นแบบที่มีโคตา ไม่ควรเป็นโคตา 30-20% ของผลผลิตของแต่ละจังหวัด และไม่ใช่เพดาที่ตั้งขึ้นมาแล้วให้สิทธิ์โรงสีเลือกเองว่าจะซื้อแบบไหนก็ได้
ยันจำนำข้าวยิ่งลักษณ์ ชาวนาจำนวนมากได้ประโยชน์ ตัวเลข 17% แค่ข้อมูลเก่า
นอกจากนี้ ดร.วิโรจน์ ชี้แจงในประเด็นที่เกิดความเข้าใจบางประการเกี่ยวกับโครงการจำนำข้าว คือ 1.ตัวเลขชาวนาที่รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการรับจำนำ แค่ 17% ตัวเลขนี้ไม่แฟร์ เพราะมาจากงานวิจัยการจำนำข้าวในอดีต ซึ่งจำนำแบบจำกัดโควต้าผลผลิต ชาวนาไม่มีอำนาจการต่อรองกับโรงสีที่เข้าโครงการเลย
2.ชาวนาที่ได้รับประโยชน์เป็นชาวนาที่ฐานะปานกลางถึงฐานะดี ตรงนี้จริงเพราะข้าวที่นำมาจำนำคือข้าวที่เหลือกิน และเป็นจริงสำหรับโครงการแทรกแซงราคาทุกประเภท เพราะเมื่อรัฐบาลบอกว่าต้องการ ‘ยกระดับราคาข้าว’ คือคิดว่าชาวนาที่มีรายได้จากการค้าข้าวมีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนการให้เงินเพื่ออุดหนุนคนไปปลูกข้าวกินเอง พูดในเชิงเศรษฐกิจของประเทศแล้วไม่มีเหตุผลที่จะทำอย่างนั้น ในโครงการประกันรายได้ที่มาจาก TDRI เป้าหมายก็อยู่ที่การชดเชยเฉพาะผลผลิตส่วนที่เหลือออกมาขายเช่นกัน ไม่ได้มุ่งชาวนาที่ปลูกข้าวกินเอง เพราะแยกได้ยากว่าครัวเรือนปลูกไว้กินเท่าไหร่และขายเท่าไหร่
3.เรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการนี้ไม่ได้ทำให้เกษตรกรเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกันใครอยากเป็นเจ้าของที่ดินจะยากขึ้น เพราะเมื่อชาวนาหันมาทำนามากขึ้นเพราะขายข้าวได้ราคาดี ก็ต้องการใช้ที่ดินมาก ราคาที่ดินก็แพงขึ้น ทั้งนี้ ในเรื่องข้าวต้นทุนไม่ได้เป็นตัวกำหนดราคา แต่ราคาเป็นตัวกำหนดต้นทุน
‘ยกระดับราคา’ ทั้งจำนำ-ประกันราคา สร้างปัญหาระยะยาว
“เอาเข้าจริงแล้ว ผมคิดว่านโยบายใดๆ ก็ตามที่พยายามใช้วิธียกระดับราคาข้าว หรือราคาสินค้าต่างๆ ให้สูงกว่าราคาตลาดโลก ในขณะที่เรายังดำรงฐานะเป็นผู้ส่งออก และยังส่งออกจำนวนมาก มันสร้างปัญหาในระยะยาวทั้งนั้น แม้กระทั่งนโยบายที่ใช้ในยุคพรรคประชาธิปัตย์ซึ่ง TDRI มีส่วนไปทำนโยบายให้” ดร.วิโรจน์กล่าว
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร TDRI กล่าวต่อมาว่า การดำเนินนโยบายในสมัยประชาธิปัตย์ ปีแรกใช้เงินประมาณ 50,000 ล้านบาท ปีถัดมาใช้เงินประมาณ 70,000 ล้านบาท และตอนหาเสียงมีการระบุว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะเพิ่มกำไรให้ชาวนาเป็น 40% ดังนั้น ถ้ารอบนี้ประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นรัฐบาล งบที่ใช้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1 แสนล้านบาทเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ งบที่ใช้จริงจะขึ้นกับส่วนต่างของราคาประกันกับราคาตลาดโลกในขณะนั้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่านโยบายของประชาธิปัตย์หรือของเพื่อไทย เป็นการสร้างแรงจูงใจที่ทำให้คนหันมาปลูกข้าวมากขึ้น ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าจะเป็นปัญหาของประเทศในระยะยาว เพราะหากดูตัวเลขจะพบว่ารายได้จากสินค้าเกษตรของไทยซึ่งไม่รวมสินค้าเกษตรแปรรูปปีล่าสุดคือ 7.7 ของ GDP ขณะที่มีคนอยู่ในภาคเกษตรประมาณ 30-40% พบว่า โดยเฉลี่ยเกษตรกรไทยมีรายได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยของคนทั้งประเทศ ซึ่งฟ้องว่าหากเราจะเก็บคน 1 ใน 3 ของประเทศไว้ในภาคการเกษตร คนเหล่านั้นส่วนใหญ่จะไม่หลุดพ้นจากความยากจน
ดร.วิโรจน์กล่าวว่า หากไปดูว่าพื้นที่ไหนที่จนที่สุด พื้นที่แถบทุ่งกุลาร้องไห้ซึ่งบอกว่าปลูกข้าวได้ดีที่สุดในประเทศไทย ตรงนั้นคือที่ที่คนจนที่สุด ทั้งนี้เกษตรกรรู้ดีและหลายคนใช้วิธีจ้างทำนา ปล่อยนาทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วมาทำงานในเมืองเช่นขับแท็กซี่ในเมือง ซึ่งรวมแล้วพบว่ารายได้ทั้งสองทางของเขาดีกว่าคนที่อยู่กับที่แล้วก็ตั้งใจทำนาเป็นอย่างดี
เพราะฉะนั้น จึงเป็นกลายปัญหาว่า ขณะที่เกษตรกรจำนวนมากเลือกที่จะเดินออกจากการเกษตร แต่ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมจำนวนหนึ่งพยายามจูงใจให้เขาอยู่ในภาคการเกษตรต่อ โดยภาครัฐบอกว่าจะพยายามทำให้เขามีรายได้ที่ดีขึ้น จากราคาที่สูงขึ้น ขณะที่ภาคประชาสังคมให้ข้อเสนอแนะต่อเกษตรกรเรื่องการลดต้นทุน อยู่อย่างพอเพียง กินทุกอย่างที่ปลูก-ปลูกทุกอย่างที่กิน ทำให้มีค่าใช้จ่ายน้อย
แนะทางออกใช้ ‘ประกันความเสี่ยง’ ช่วยเกษตรกร
“การรักษาคนที่มีจำนวนมากเกินไปที่อยู่ในภาคการเกษตร ผมคิดว่ามันไม่ใช่ทางออกของประเทศในระยะยาว และก็ไม่สามารถทำให้เกษตรกรมีฐานะ ลืมตาอ้าปากขึ้นมาได้ และจริงๆ แล้วประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะที่ขาดแคลงแรงงานมากขึ้น เพราะว่าอัตราการเกิดของเราลดต่ำลงมามาก” ดร.วิโรจน์ ให้ความเห็น และว่าการสร้างคำมั่นสัญญาว่าอยู่ในภาคเกษตรแล้วจะดีเป็นคำตอบของเกษตรกรส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช้ทั้งหมด อีกทั้งไม่ควรชักชวนให้คนเข้าสู่ภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น
ต่อคำถามที่ว่ารัฐควรมีโครงการเพื่อช่วยเกษตรเรื่องราคาอยู่หรือไม่ ดร.วิโรจน์ กล่าวว่า รัฐยังควรต้องช่วยในเรื่องการประกันความเสี่ยงจากการลงทุนเพาะปลูกโดยไม่รู้ว่าเมื่อเก็บเกี่ยวราคาจะเป็นเช่นไร จากตัวอย่างโครงการจำนำในหลายประเทศ มีการตั้งราคาเป้าหมายที่คำนวณมาจากราคาสินค้าเกษตรย้อนหลัง 3 ปี เมื่อถึงเวลาเก็บเกี่ยวหากราคาจริงต่ำกว่าราคาเป้าหมาย อาจมีโครงการรับจำนำที่ราคาประมาณราคาเป้าหมายหรือหากเป็นโครงการประกันรายได้ก็เป็นการชดเชยส่วนต่างตรงนั้น ซึ่งหากราคาตกกะทันหันรายได้ของเกษตรกรจะไม่ตกไปด้วย ตรงนี้คือการแก้ปัญหาในระยะสั้น
กรณีที่ราคาในระยะยาวตกลงเรื่อยๆ จนเกษตรกรจำนวยหนึ่งรู้สึกไม่คุ้มที่จะอยู่ เราก็ควรจะปล่อยให้ราคาตลาดตรงนั้นเป็นตัวชี้นำว่าเขาควรจะอยู่หรือควรจะไป
ดร.วิโรจน์ กล่าวด้วยว่า การช่วยประกันความเสี่ยงในขณะที่ราคาตกกะทันหันเป็นความรับผิดชอบที่รัฐมีต่อเกษตรกร แต่ไม่ควรเป็นความรับผิดชอบของรัฐที่ต้องมายกระดับราคาให้เกษตรกร เพราะเมื่อมีการยกระดับราคาให้สูงมากกว่าราคาตลาดโลกก็จะมีคนปลูกมากกว่าที่ควรจะเป็นซึ่งส่วนที่เกินมานี้ขายในราคาต้นทุนที่รับมาไม่ได้ กลายเป็นว่ารัฐต้องขาดทุนเพื่อช่วยเกษตรกรส่วนนี้ แต่การช่วยเกษตรกรส่วนนี้ก็ไม่ทำให้เกษตรกรรวย เพราะว่าเกษตรกรรายใหม่ที่เข้ามาจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น ดังนั้นจึงจะมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งที่มีต้นทุนใกล้เคียงกับราคาขาย ไม่ว่าราคาจะสูงเท่าไหร่
‘ประพัฒน์’ เชื่อเลิกจำนำเมื่อไหร่ ม็อบเต็มถนน แนะต้องแจงปัญหา
ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า ตราบเท่าที่รัฐบาลไม่ออกนโยบายมาทำร้ายเกษตรกร นโยบายยังมีประโยชน์กับเกษตรกรอยู่บ้าง ย่อมถือว่าไม่ใช่ศัตรูของเกษตรกร และไม่ได้เป็นศตรูของสหพันธ์เกษตรกรฯ ยังเป็นพันธมิตรอยู่ ที่ถามว่าทำไมไม่มีม็อบชาวนา ก็จะมีม็อบต่อเมื่อเลิกนโยบายจำนำข้าวนี้ หากเลิกเมื่อไหร่ม็อบก็จะเต็มถนน เต็มหน้าศาลากลางจังหวัด เพราะตอนนี้เขาพึงใจนโยบายนี้อยู่ แต่ถามว่าพึงใจทั้งหมดไหม คำตอบคือไม่ ยกตัวอย่าง ที่ชาวนาที่ลำปางปลูกข้าวไว้กินเป็นหลัก เหลือจึงขาย และปลูกข้าวปีละครั้ง ซึ่งถือว่าได้ประโยชน์ แต่ไม่เท่าชาวนาภาคกลางที่การชลประทางเหมาะสมกับการปลูกข้าว
ถามว่านโยบายประชานิยมชาวนาถึงเอา ทำไมคนกรุงเทพฯ ไม่เอาประชานิยม ก็เพราะเป็นนโยบายที่ป้อนคนจน ถ้าชาวนาพึงตนเองได้ ทำมาหากินได้อย่างมีศักดิ์ศรี อยู่ดีกินดีเขาก็ไม่จำเป็นต้องสนใจประชานิยม และหากโครงการนี้เดินหน้าต่อไปอีก 3 ปีแล้วขาดทุน เพราะเมื่อเทียบกับไอเอ็มเอฟที่ต้องใช้เงินอุ้มร้อยกว่าล้าน หรือในส่วนประชานิยมของคนชั้นกลางก็มีทั้งรถคันแรกและบ้านหลังแรกซึ่งใช้เงินรวมกันกว่า 2 แสนล้าน
“ชาวนาเขาก็มีคำถามว่า เวลาอุ้มคนรวย อุ้มคนชั้นกลางทำไมไม่บ่น พอมาอุ้มคนจนแล้วทำไมบ่นจัง” ประพัฒน์กล่าว
ประพัฒน์ กล่าวว่า เกี่ยวกับนโยบายนี้ไม่สามารถพูดแทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ เพราะเรื่องข้าวเป็นเรื่องที่หาฉันทามติยาก ชาวนาแต่ละภาคคิดแตกต่างกัน แต่ก็จะพยายามต่อไป อย่างไรก็ตามคิดว่าเกษตรกรทั้งประเทศคิดไม่ต่างกัน และไม่ใช่คนใจแคบหากได้นั่งลงคุยกันว่านโยบายนี้สุดโต่งเกินไป ทำไปแล้วประเทศชาติได้เกิดความเสียหายอะไร พยากรณ์ได้ว่าอนาคตอีก 2-3 ปี อาจก่อให้เกิดวิกฤติใหญ่ของชาวนา เพราะรัฐบาลไม่สามารถอุ้มได้ต้องปล่อยตามยถากรรม เรื่องนี้ชาวนารับฟังได้ เพียงแต่เขาประหวั่นใจ
ส่วนข้อเสนอ ประพัฒน์ กล่าวว่า 1.โดยจุดยืนไทยไม่สามารถปลูกข้าวคุณภาพต่ำเพื่อแข่งกับเพื่อนบ้านได้อีกต่อไป ต้องเปลี่ยนเป็นข้าวคุณภาพสูง 2.ปรับนโยบายจำนำข้าวให้อ่อนตัวลงมา มีผลกระทบน้อยลง 3.เปิดเวทีพูดคุยระหว่างตัวแทนชาวนาจริงๆ และตัวแทนรัฐบาลที่เป็นคนคุมนโยบาย ไม่ใช่การสังการแบบบนลงล่าง 4.จะมีการเสนอนายกฯ เรื่องการจัดซื้อเครื่องวัดความชื้นและสิ่งเจือปนส่วนกลาง ไว้บริการที่สภาเกษตรกรทุกอำเภอ เพื่อเอาไว้ตรวจสอบป้องกันไม่ให้โรงสีฉวยโอกาสเอาเปรียบชาวนา
“เชื่อว่ารัฐบาลเองหาทางออกอยู่เหมือนกัน เพียงแต่ว่าหากทางออกนำเสนอโดยฝ่ายค้าน แน่นอนตายเป็นตาย สู้ตายคาเวที ถ้าเสนอโดยเอ็นจีโอที่เป็นขาประจำก็เหมือนกัน ขาประจำ หายใจก็ผิดแล้ว” ประพัฒน์ กล่าวและว่าจะร่วมหาทางออกที่เป็นกลางๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งประเทศ
‘ประภาส’ จี้รัฐบาลให้ข้อมูลสังคมตรงไปตรงมา อย่าเฉไปเป็นนักสังคมสังเคราะห์
รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมื่อพูดถึงการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว ต้องกลับมาพูดเรื่องหนึ่งคือที่รัฐบาลนี้บอกว่าจะเป็นผู้ค้าข้าว ทำเหมือนกลุ่มโอเปกที่สามารถคุมราคาน้ำมันได้ แต่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาได้ และสิ่งที่รัฐบาลแถลงซึ่งสำคัญในเรื่องจุดยืนเชิงนโยบายกลับพูดแบบนักสังคมสงเคราะห์ ข้าวที่เราซื้อมาจะเอามาแจกแบบสังคมสังเคราะห์ อย่ากังวลเรื่องกำไรขาดทุน ตรงนี้ไม่ถูกต้อง เพราะตรงนี้เรากำลังพูดถึงการค้าข้าว มีกำไรขาดทุน เพื่อยกระดับการแข่งขันไปสู่ภูมิภาคหรือตลาดโลก
“ชาวนาเขารับได้อยู่แล้วตัวเลขแบบนี้ เพราะว่าเขาได้ประโยชน์ แต่ผมคิดว่าการพูดกับผู้คนในสังคม รัฐบาลต้องตรงไปตรงมา เพราะว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการแบบสังคมสังเคราะห์” รศ.ดร.ประภาส
ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการฯ รศ.ดร.ประภาส กล่าวว่า เรื่องสำคัญคือเรื่องคุณภาพข้าว ซึ่งโครงการฯ ไม่ได้มีการควบคุมเรื่องนี้ ทำให้เกษตรกรมุ่งปลูกข้าวเพื่อขาย ปลูกข้าวเหมือนปลูกยางพารากินไม่ได้ซักเม็ด และยังไปกระทบกับการปลูกข้าวทางเลือกและการผลิตโดยโรงสีชุมชนเพราะไม่สามารถตั้งราคาซื้อแข่งกับรัฐบาลได้ ขณะที่ในเรื่องต้นทุนของโครงการนี้ก็ไปอยู่ที่ข้าราชการจำนวนมาก ทั้งตำรวจ ดีเอสไอ ส่วนหน่วยงานส่งเสริมการเกษตรก็ไม่มีทำงานเลย
รศ.ดร.ประภาส กล่าวถึงขี้อเสนอในระยะสั้นว่า ความสมเหตุสมผลของการอุดหนุนที่ชาวนาควรจะได้เพิ่มเติมจากกลไกตลาด ทำให้ชาวนาอยู่ได้เป็นทางเลือกนโยบายของข้าวโดยทั่วไป ส่วนการพัฒนาคุณภาพข้าวซึ่งเป็นประเด็นระยะยาวที่พูดกันมานาน ส่วนตัวคิดว่าข้าวที่บริโภคภายในประเทศ 8 ล้านตันข้าวสาร ซึ่งถูกผูกขาดโดยข้าวถุง ในเชิงนโยบายควรกลับมาคิดเรื่องคุณภาพข้าว การรักษาพันธุข้าว การพัฒนาพันธุ์ โดยทำให้ตลาดชุมชนเชื่อมกับผู้บริโภค นี่คือทางเลือกเชิงนโยบาย
อีกทั้งเสนอให้มีการพัฒนาเครื่องจักรทางการเกษตร เพื่อการลดปุ๋ยและยาฆ่าแมลง สนับสนุนการทำนาโดยลดต้นทุน นโยบายอาจมากกว่าการยกระดับราคา แต่มองเรื่องการลดต้นทุนผลิต
‘เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก’ จี้หยุดใช้นโยบายเดียวปฏิบัติทั่วประเทศ
ด้านอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวถึงข้อเสนอ ดังนี้ ควรมีนโยบายที่เกี่ยวกับตัวคนด้วย นอกจากนโยบายที่มุ่งตัวสินค้า และไม่ควรมีนโยบายเดียวที่ใช้ปฏิบัติไปทั่วประเทศ ยกตัวอย่าง โครงการรับจำนำข้าวทำได้ในภาคกลาง ทำนาปีละ 2 ครั้ง และจำกัดเข้าโครงการไม่เกิน 60 ไร่ ส่วนภาคอีสานและเหนือใช้นโยบายจำนำข้าวที่ยุ้งฉาง รัฐอุดหนุนดอกเบี้ยเพื่อให้ชาวนาทยอยขายข้าวเมื่อจำเป็นได้ โดยข้าวมีฐานะเป็นทรัพย์เก็บออมซึ่งตรงกับสภาพสังคมในภาคเหนือและอีสาน
ปัญหาเชิงเทคนิคเรื่องการโกงตราชั่งเปลี่ยนค่าความชื้น ต้องมีการคิดรูปแบบกฎเกณฑ์ขึ้น โดยตรงนี้ชาวบ้านเคยมีข้อเสนอให้ตั้งตราชั่งพาณิชย์ที่บริเวณหน้าอำเภอ เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตรวจสอบกับโรงสี และนำคำอธิบายของโครงการหมู่บ้านละล้าน และกองทุนพัฒนาสตรีที่ว่า ‘เปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจกับภาคส่วนอื่นของสังคม’ มาใช้กับชาวนา ทำงานสร้างนโยบายเพื่อให้องค์กรเกษตรกรเข้มแข็งขึ้น มีความรู้เรื่องโครงสร้างอำนาจในสังคม ขีดความสามารถในการจัดการ และระบบคุณธรรมภายใน
หนุนออกนโยบายสร้างเกษตรกรเข้มแข็ง
“ผมอยากให้มีนโยบายที่จะสนับสนุนในเกษตรกรเข้มแข็ง เพื่อให้ดุลอำนาจต่างๆ มันถ่วงกัน อันนี้เป็นเรื่องยาวที่ต้องควรจะทำ สร้างนโยบายเฉพาะหน้าเพื่อให้ถูกใจ เพื่อให้ได้คะแนนเสียง ผมไม่ปฏิเสธ แต่ว่าจะต้องออกนโยบายที่ยังยืนด้วย” อุบล กล่าว
อุบล กล่าวถึงการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรว่า ควรส่งเสริมอย่างจริงจังให้ความเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ และปุ๋ย อยู่ในมือขององค์กรเกษตรกร ส่วนนโยบายส่งเสริมการตลาดให้สัมพันธ์กับความยั่งยืนในการผลิต และเสนอให้ลดความเปราะปางของนิเวศน์การผลิต โดยทำให้คนกินข้าวรู้จักข้าวที่มากกว่าข้าวที่ขายในตลาด เพราะพฤติกรรมการกินส่งผลต่อความหลากหลายในการผลิต
อุบล กล่าวด้วยว่า ข้าวคุณภาพนั้นนอกจากพันธ์ข้าวแล้วยังรวมถึงกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยด้วย จึงควรมีนโยบายอุดหนุนเกษตรกรที่สมัครใจเปลี่ยนแบบแผนการผลิตจากเคมีมาเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยมีระบบมาตรฐานที่เข้มงวด ตรวจสอบได้ และควรสนับสนุนการผลิตข้าวคุณภาพที่หลากหลาย เชื่อโยงผู้บริโภคในพื้นที่ ไม่สนับสนุนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว อีกทั้งยังมีข้อเสนอไปยังเอกชนโดยเฉพาะเจ้าของโรงสี ในการร่วมทำแฟร์เทรดกับองค์กรเกษตรกร โดยเปิดเผยราคาตลอดกระบวนการ
โน๊ต: หลังมีการเผยแพร่งานรายงานข่าวเรื่องนี้ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้เผยแพร่ข้อมูลเพิ่มเติมในเฟซบุ๊ก Viroj NaRanong (วิโรจน์ ณ ระนอง) ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจและช่วยขยายความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการประกันราคาข้าวจึงขอนำมาเผยแพร่ต่อ
เป้าหมายของโครงการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างราคาข้าวที่ TDRI นำไปเสนอรัฐบาลอภิสิทธิ์นั้น จริงๆ เป้าหมายก็อยู่ที่การชดเชยเฉพาะผลผลิตส่วนที่เหลือออกมาขายเช่นกัน เพราะไม่มีเหตุผลที่รัฐบาลควรเอาภาษีไปจ่ายชดเชยราคาข้าวส่วนที่เกษตรกรปลูกไว้กินเอง แต่ที่ออกมาแบบนั้นเพราะการแยกว่าแต่ละครัวเรือนปลูกไว้กินเท่าไหร่และขายเท่าไหร่นั้นจะยุ่งยากในทางปฏิบัติ แต่พอมาถึงตอนนี้โครงการนั้นกลับถูกนำมาเคลมว่ามีข้อดีกว่าการจำนำเพราะประโยชน์ตกกับชาวนาจนที่ไม่มีข้าวเหลือขายหรือเหลือน้อย ทั้งที่ by design โครงการที่เกี่ยวกับราคา ต่างก็ target ผลผลิตส่วนที่เหลือเข้าสู่ตลาดเป็นหลักทั้งนั้น ซึ่งถ้าเราเห็นว่าไม่ควรหรือไม่จำเป็นต้องเอาเงินภาษีไปช่วยเกษตรกรเหล่านี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (หรือถ้าเห็นว่าไม่ควรทำโครงการจำนำเพราะรัฐบาลจะไร้ประสิทธิภาพในการขายข้าวทำให้เกิดความสูญเสียมากจนไม่คุ้มกับประโยชน์ที่ชาวนาได้รับ ดังเช่นที่เป็นที่ประจักษ์จากความล้มเหลวที่ขายข้าวได้ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลกมากในช่วงที่ผ่านมาก็ย่อมได้เช่นกัน)
ข้อเสนอของเราตอนแรกคือเป็นโครงการ (ที่อาจให้ ธกส.) ขายประกันความเสี่ยงด้านราคาให้ชาวนา โดยในช่วงแรกให้รัฐบาลอุดหนุนเบี้ยประกันส่วนใหญ่ ไม่ใช่โครงการแจกเงินชดเชยหรือโครงการยกระดับราคาหรือ “เพิ่มกำไรให้ชาวนา” อย่างที่ถูกนำมาโฆษณาตอนหลัง แต่ในทางการเมืองไม่มีใครกล้าเสนอโครงการที่มีการเรียกเก็บเงินจากชาวนา (ทั้งที่ในความเป็นจริง ธกส. ก็มีการขายประกันภัยพืชผล ซึ่งชาวนาจำนวนหนึ่งก็ยินดีซื้อ) ถ้าทำเป็นโครงการขายประกันก็แทบจะไม่ต้องห่วง ปัญหาชาวนาปลอม เจ้าของที่ดินมาแย่งลงทะเบียนเป็นชาวนาแทนผู้เช่า หรือผลประโยชน์ตกกับชาวนาฐานะดีมากกว่าชาวนาจน ฯลฯ
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ประชาไท วันที่ 16 มิถุนายน 2556 ในชื่อ ‘จำนำข้าว’ ใกล้ถึงทางตัน! ชาวนา-โรงสี-TDRI ร่วมแนะทางปรับนโยบาย