สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ.ได้หารือเชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา หารือทิศทางจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต โดยนายปกป้อง จันวิทย์ นักวิจัยโครงการปฏิรูปการศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาไทยไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนทรัพยากร แต่อยู่ที่ประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา งบประมาณกระทรวงศึกษาธิการเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ขณะที่รายได้ของครูก็เพิ่มขึ้นจากประมาณ 15,000 บาท ในปี 2544 เป็นกว่า 25,000 บาท ในปี 2553 ซึ่งตรงข้ามกับผลสัมฤทธิ์นักเรียนที่มีแนวโน้มต่ำลงในการประเมินทุกระดับ งานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า ปัญหาเกิดจากขาดความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือโรงเรียน ที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาด้านคุณภาพได้ จึงเสนอให้ปฏิรูปหลักสูตร และออกข้อสอบที่เน้นคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น พัฒนาครูที่สอนได้หลากหลาย และการประเมินวิทยฐานะครูต้องขึ้นอยู่กับผลสัมฤทธิ์การเรียนเด็กอย่างแท้จริง เพื่อให้ครูและโรงเรียนมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต่อผลสัมฤทธิ์ที่ตกต่ำ
นอกจากนี้ ต้องเพิ่มตัวชี้วัดประเมินคุณภาพสถานศึกษาที่เหมาะสม รวมถึงปฏิรูประบบการเงิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
โดยข้อเสนอจากการประชุมครั้งนี้ สพฐ.จะนำไปกำหนดทิศทางขับเคลื่อนการศึกษาขั้นพื้นฐานในอนาคต โดยเฉพาะการปฏิรูปครูที่ต้องผูกติดกับการพัฒนาการเรียนการสอน และผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ขณะที่การบริหารจะไม่เน้นระบบราชการ แต่เน้นการมีส่วนร่วม รวมทั้งงบประมาณพัฒนาในอนาคต จะเน้นไปที่โรงเรียนขนาดเล็กให้มากขึ้น
ตีพิมพ์ครั้งแรก: เว็บไซต์ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 6 มิถุนายน 2556 ในชื่อ TDRI แนะ สพฐ.ปฏิรูปหลักสูตรการเรียน-ออกข้อสอบเน้นคิดวิเคราะห์