tdri logo

Notice: Undefined offset: 0 in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 229

Notice: Trying to get property 'term_id' of non-object in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 241
10 ก.พ. 2014
Read in Minutes

Views

หยุดโครงการรับจำนำข้าว

วิโรจน์ ณ ระนอง

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา การดำเนินการในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลกลับมาเป็นประเด็น Talk of the Town อีกครั้ง จากการที่ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวฤดูการผลิต 2556/2557 อะไรคือสาเหตุสำคัญของปัญหาในครั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาให้กับชาวนาควรเป็นอย่างไรอนาคตของอุตสาหกรรมข้าวจะไปในทิศทางไหนคือสิ่งที่เราจะมาคุยกัน

ปัญหาของโครงการที่กลายมาเป็นปัญหาทุกวันนี้มีผลมาจากตั้งแต่เรื่องแนวคิดของโครงการ มาจนถึงวิธีดำเนินโครงการ โดยแนวคิดโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการช่วยชาวนา ตั้งใจที่จะสร้างประวัติศาสตร์โดยการใช้คำว่ารับจำนำทุกเมล็ด แม้ข้าวไม่ได้เข้ามาทุกเมล็ดจริง แต่ก็เป็นการรับจำนำแบบเกือบจะไม่จำกัดปริมาณซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ทำให้มีผลดีตรงที่ว่าชาวนาไม่ได้ถูกกดราคาเหมือนกับการรับจำนำหรือการแทรกแซงในอดีตและคิดว่าในช่วง 2 ปีแรกก็ได้ผลอย่างนั้นจริงชาวนาไม่ถูกกดราคาง่ายๆ เพราะมีโรงสีที่ให้บริการจำนวนมาก ทำให้ชาวนามีทางเลือก อันนั้นเลยเป็นความสำเร็จในประวัติศาสตร์ของโครงการนี้

แต่ว่าโครงการนี้เริ่มมาจากแนวคิดและความเชื่อที่ผิดโดยเฉพาะความคิดที่เชื่อว่าเมื่อรัฐบาลมาผูกขาดตลาดข้าวแล้วก็จะทำให้สามารถควบคุมราคาในตลาดโลกได้ โดยจะสามารถตั้งราคาบวกไปจากต้นทุนนิดหน่อยได้ ซึ่ง รมว.พาณิชย์เคยพูดว่าจะใช้เงินน้อยกว่าโครงการที่พรรคประชาธิปัตย์ทำในอดีต และเชื่อว่าจะใช้เงินไม่เกินแสนล้านต่อปี

แต่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทีดีอาร์ไอเคยเตือนมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้วว่าความเชื่ออย่างนี้เป็นความเชื่อที่ผิดทีดีอาร์ไอประมาณการไว้แต่แรกว่าโครงการนี้จะขาดทุนมากกว่าแสนล้านบาทจากการซื้อข้าวมาแล้วขายไปในราคาตลาดโลกซึ่งเราไม่สามารถควบคุมราคาในตลาดโลกได้

รัฐบาลทำโครงการที่เป็นประวัติศาสตร์ใหญ่โตอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่กลับไม่มีมาตรการหรือเตรียมการอะไรมากกว่าที่เคยทำมาในอดีตปัญหาจึงหนักกว่าที่ประมาณการเอาไว้ คือ นอกจากไม่สามารถขายข้าวได้ในราคาตลาดแล้วเขายังขายข้าวได้ในราคาที่แย่กว่าตลาดโลก และในปริมาณที่น้อยกว่าปกติมาก จึงนำมาสู่การขาดทุนที่มากกว่าที่ประมาณการไว้ และส่วนที่สองคือนำมาสู่ปัญหาสภาพคล่องของโครงการ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถขายข้าวได้ในปริมาณที่คาดหมายไว้จึงทำให้เงินไปจมกับสต๊อกข้าวจำนวนมาก ทำให้ในที่สุดแล้วเงินสำรอง 5 แสนล้านก็หมด สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ

หนึ่ง ต้องเร่งระบายข้าว สอง มีสัญญาณฟ้องว่ารัฐบาลไม่สามารถทำแบบนี้ไปเรื่อยๆได้แต่ที่น่าสนใจคือพรรคเพื่อไทยยังคงใส่นโยบายจำนำข้าวไว้ในนโยบายหาเสียง ทั้งๆ ที่รู้ว่ามีปัญหาแล้วยังดันทุรังทำต่อไป ปัญหาก็จะยิ่งหนักขึ้นในอนาคต

แนวความคิดที่รัฐบาลต่างๆ ในประเทศไทยมักใช้หาเสียงกับเกษตรกรมาตลอดคือ การบอกว่ารัฐบาล(ถ้าได้เป็น)จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้น ซึ่งแนวความคิดนี้ตนคิดว่าเป็นแนวความคิดที่ผิด เพราะประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออก ซึ่งราคาสินค้าเกษตรที่ส่งออกก็จะเชื่อมโยงตลาดโลกและในหลายๆ กรณีก็ถูกกำหนดโดยตลาดโลก ฉะนั้นการมาตั้งราคาในประเทศให้สูงกว่าตลาดโลก สิ่งที่เกิดขึ้นอันดับแรกคือ จะมีปัญหาในการขายขาดทุน แต่นั่นยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดที่กรณีรัฐบาลเป็นผู้รับซื้อเพราะถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร

ปัญหาใหญ่คือยิ่งรัฐบาลพยายามยกระดับราคาในประเทศให้สูงขึ้นเท่าไหร่ก็จะจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชนั้นมากขึ้น และรัฐบาลก็จะมีปัญหาในการขายมากขึ้น ซึ่งโครงการจำนำข้าวเป็นตัวอย่าง แต่ไม่ว่าทำกับพืชผลเกษตรชนิดไหนก็จะสร้างปัญหาให้ประเทศในระยะยาวเพราะไม่ใช่ว่าทำแล้วได้สินค้าที่ขายได้ง่าย แต่เป็นสินค้าที่ขายได้ยากเพราะมีต้นทุนสูงกว่าของตลาดโลก

คำถามคือว่าเราควรปล่อยให้เกษตรกรรับภาระกับความผันผวนของราคาตลาดโลกทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องมาคิดว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอาชีพน่าเห็นใจ เพราะหากเทียบกับมนุษย์เงินเดือนซึ่งถ้าบริษัทไม่เจ๊งหรือถูกยื่นซองขาวเราก็จะรู้ว่าแต่ละเดือนเราจะมีรายได้เท่าไหร่ แต่อาชีพเกษตรกรจะต้องลงทุนลงแรง จ้าง ซื้อ ปัจจัยการผลิตเพื่อผลิตไปก่อนแล้วเมื่อผลผลิตออกจึงจะรู้ว่าจะได้รายได้เท่าไหร่ ตรงนั้นก็มีความเสี่ยงอย่างน้อยก็มีความเสี่ยงระยะสั้น

ดังนั้น หากจะช่วยรัฐบาลควรจะมีโครงการที่มาช่วยรับภาระความเสี่ยงตรงนั้น แนวคิดง่ายๆก็คือว่า ถ้าราคาผลผลิตในฤดูหนึ่งไม่ต่างจากในอดีต รัฐบาลก็ไม่ต้องไปช่วยอะไรถือว่าเกษตรกรได้รับราคาตามที่คาดหมายไว้ตั้งแต่ก่อนตัดสินใจปลูกแล้ว แต่ถ้าราคาต่ำกว่าที่คาดหมาย รัฐบาลอาจเข้าไปชดเชยตรงนั้นได้ ซึ่งอย่างน้อยจะช่วยให้รายได้ของเกษตรกรไม่ตกลงกะทันหัน แต่รัฐบาลไม่ควรพยายามไปยกระดับราคาให้สูงกว่าราคาในอดีต แล้วถ้าราคามีแนวโน้มตกลงต่อเนื่องคิดว่าเกษตรกรก็จะเห็นสัญญาณอันนั้นแต่ว่าถ้าราคามันตกลงเรื่อยๆราคาเฉลี่ยย้อนหลังมันก็จะตกลงด้วย ก็เป็นการส่งสัญญาณให้เกษตรกรต้องปรับตัวว่าอาจจะต้องหาแนวทางอื่นเช่น ปลูกพืชชนิดอื่นหรือไปทำงานอื่นที่ไม่ใช่อาชีพเกษตรกรก็ได้

ประเด็นสำคัญคือ ถ้าราคาตกลงกะทันหันก็จำเป็นต้องช่วยเกษตรกร แต่อย่าไปสัญญาว่าจะยกระดับราคาให้สูงกว่าตลาด ซึ่งจะสร้างแรงจูงใจที่ผิดและสร้างปัญหาต่างๆ มามากมาย ซึ่งบทเรียนที่ผ่านมาก็เห็นชัดเจน

หลายคนบอกว่าเราควรกลับไปใช้โครงการประกันราคาที่ยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ใช้ ซึ่งจริงๆก็เป็นโครงการที่ทีดีอาร์ไอมีส่วนเสนอ โครงการประกันราคามีข้อดีเหนือโครงการรับจำนำที่ชัดเจนประการหนึ่งคือ รัฐบาลไม่ต้องมีข้าวอยู่ในมือ ไม่ต้องขายข้าวเอง ปล่อยให้การค้าขายเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งก็คงสะเทือนตลาดบ้างส่วนหนึ่ง แต่ไม่เป็นภาระกับรัฐบาล (ซึ่งทุกรัฐบาลไม่ได้เก่งในการขาย)

แต่โครงการแบบนั้นพอทำออกมาแล้วเมื่อไหร่ก็ตามที่มีการสัญญาว่าจะทำให้คนที่เข้าร่วมโครงการรวมเงินชดเชยแล้วสูงกว่าราคาตลาด ก็จะจูงใจทำให้มีชาวนามาปลูกมากกว่าที่ควรจะเป็น บางคนก็มาปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆเพื่อจะเอาเงินชดเชยเจ้าของที่ดินบางรายที่ให้ชาวนาเช่าก็มาเรียกร้องเงินชดเชยนั้นเสียเอง ยิ่งในระบบของเรามักใช้เอกสารทางราชการในการรับรองสิทธิในกรณีการทำนาเช่า ก็จะมีเจ้าของที่ดินเอาเอกสารสิทธิ์ไปยื่นขอรับเงินชดเชยส่วนต่างตรงนั้นไป

เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติ เมื่อไหร่ก็ตามที่ไปสร้างโครงการที่บอกว่าจะมีการยกระดับราคา ไม่ว่าจะเป็นการยกระดับโดยตรงอย่างโครงการรับจำนำข้าว หรือไปจ่ายเงินชดเชยเพิ่มรวมแล้วสูงกว่าราคาตลาด (โครงการประกันราคา) ก็จะไปสร้างแรงจูงใจที่จะมีการผลิตเพิ่มมากขึ้นฉะนั้นสิ่งที่ควรทำมากกว่าคือการไปช่วยแก้ปัญหาความเสี่ยงในระยะสั้น กรณีราคาตกต่ำกะทันหัน แต่อย่าพยายามที่จะไปยกระดับราคาโดยคิดว่าจะเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งในทางปฏิบัติไม่เคยทำได้

โครงการรับจำนำข้าวพิสูจน์แล้วว่าแม้จะทำให้ชาวนาได้ราคาข้าวเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่รัฐบาลก็ไม่สามารถจัดการกับสต๊อกที่เหลืออย่างมีประสิทธิภาพได้ และเป็นความล้มเหลวที่นำมาสู่การขาดทุนย่อยยับของโครงการ และจนมาถึงทำให้รัฐบาลไม่มีปัญญาจ่ายเงินชาวนาอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น จึงควรหยุดโครงการรับจำนำ


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2557

นักวิจัย

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านสาธารณสุขและการเกษตร

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ