tdri logo

Notice: Undefined offset: 0 in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 229

Notice: Trying to get property 'term_id' of non-object in /home/uatcenter/domains/uatcenter.com/public_html/tdri/wp-content/themes/twentytwentyfour-child/functions.php on line 241
10 มิ.ย. 2014
Read in Minutes

Views

ชาวนาหวังยั่งยืนด้วยความรู้เข้าถึงข้อมูล-ลดต้นทุนผลิต

นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ชาวนาจากจังหวัดอ่างทอง นายธวัชชัย ถนอมลิขิต ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน และนายมนัส กิจประเสริฐ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ร่วมระดมความเห็นหัวข้อ “ชาวนาไทย ทำอย่างไรให้ยั่งยืน” ในรายการ Business Talk ออกอากาศทางทีวีดิจิทัลช่อง NOW 26

เพิ่มศักดิ์ บอกว่า ปัญหาของชาวนาปัจจุบันมีมาก ทั้งต้นทุนการผลิตสูง ราคาขายตกต่ำ หนี้สิน และสูญเสียทรัพย์สิน ทำให้ชาวนา 2-3 ล้านคนอยู่รอดได้ยาก เพราะต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 6,150 บาท ขณะที่ราคาข้าวอยู่ที่ตันละ 5-6 พันบาทเท่านั้น

แนวทางที่จะทำให้ชาวนาอยู่รอดได้คือ การลดต้นทุนและทำให้ชาวนาขาดทุนไม่มาก โดยเฉพาะต้นทุนจากค่าเช่าที่ดิน โดยชาวนากลุ่มจังหวัดภาคกลางกว่า 65% ต้องเช่าที่ดินราคา 1,000-1,500 บาทต่อไร่ คิดเป็น 20% ของต้นทุนทั้งหมด

หากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งใจช่วยเกษตรกรจริง ก็น่าจะกระจายการครอบครองที่ดิน ทำให้ชาวนามีที่ดินเป็นของตัวเองได้รายละไม่เกิน 30-50 ไร่ ก็น่าจะทำให้ชาวนาอยู่ได้ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเป็นแสนๆ ล้านบาท

นอกจากนี้ ชาวนาควรจะมีส่วนแบ่ง การตลาด ไม่ควรวางแผนแต่ด้านการผลิตเท่านั้น แต่น่าจะมีส่วนแบ่งเรื่องการตลาดด้วย หรือมีตลาดเฉพาะในหลายๆ เรื่องที่ชาวนาทำได้ ซึ่งภาครัฐต้องสนับสนุนให้มีตลาดครบวงจร ตั้งแต่การผลิต แปรรูป จะทำให้ชาวนา มีรายได้พออยู่ได้ และควรมีระบบแบ่งปัน ผลประโยชน์ให้เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอทุกอย่างจะเป็น ข้อเสนอที่อยู่ในความฝัน หากเรายังขาดการปฏิรูปที่ดิน และพัฒนาภาคเกษตรอย่างครบวงจร

เพิ่มศักดิ์ ยังกังวลว่า การสนับสนุนของภาครัฐและมุ่งไปที่การประกันผลผลิตจะทำให้ต้นทุนเพิ่ม ดังนั้นอาจต้องปรับเปลี่ยนการ ส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันผลิต จะทำให้อยู่รอดได้ เพราะมีอำนาจต่อรอง และลด ความเสี่ยงได้

นิพนธ์ มองว่าภาคเกษตรทั้งระบบควรจะปรับอย่างไรเพื่อให้ชาวนาอยู่อย่างยั่งยืน ประเทศไทยจะยึดนโยบายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกต่อไป ชาวนาคงไม่รอด เพราะปัจจุบันต้นทุนการผลิตของประเทศไทยสูงกว่า เพื่อนบ้าน และอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณการบริโภคข้าวทั่วโลกจะลดลง แม้ประเทศแอฟริกาและเอเชียจะบริโภคเพิ่มขึ้น แต่เป็นข้าวราคาไม่สูง ซึ่งคู่แข่ง ทั้งเวียดนาม พม่า กัมพูชา และอินเดีย มีต้นทุนต่ำกว่าไทยสามารถผลิตข้าวประเภทนี้ได้มากกว่า

“ชาวนาต้องคิดใหม่ ต้องปลูกข้าวคุณภาพดีๆ ข้าวราคาแพงๆ ที่คนรวยกิน และปลูกในปริมาณน้อยๆ”

นอกจากนั้น จำนวนชาวนาไทยมีมากเกินไป เห็นได้จากแรงงานในภาคเกษตรมีมากถึง 60% แต่รายได้ต่อหัวของภาคเกษตรมี 10% เท่านั้น เทียบกับแรงงานนอกภาคเกษตรที่มีเพียง 40% แต่มีรายได้ต่อหัวสูงกว่า ซึ่งประเทศที่พัฒนาแล้วจะย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร ทำให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้น

ดังนั้นหากแรงงานภาคเกษตรมีน้อย จะทำให้รายได้ต่อหัวสูงขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าภาคเกษตรของไทยจะลดลง ตรงกันข้าม กลับจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะผลผลิตจะมากขึ้น และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้น ถือเป็นกลยุทธ์ระยะยาวที่ควรมองไว้ ฉะนั้นเกษตรกรจะต้องรวมกลุ่มหรือรวมแปลงนา จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลงได้

ทรงพล บอกว่า ชาวนาทุกวันนี้พยายามผลักดันให้ลูกหลานไปร่ำเรียนเพื่อกลับมาทำอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน หรือนำความรู้กลับมา หากทำได้ดีจะมีรายได้ดีกว่าการเป็นข้าราชการ เพราะทำการเกษตรเป็นอาชีพของตัวเอง ขณะที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยเสริม ความรู้ด้วย

“แต่นับจากนี้ไปต้องการเสนอให้ชาวนาทุกคนนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาประยุกต์ใช้ และน่าจะช่วยฟื้นฟูชาวนาได้ ส่วนภาครัฐก็ต้องวางระบบรากฐานภาคเกษตรให้เข้มข้นเชื่อว่าชาวนาจะอยู่รอด จากที่ผ่านมาชาวนาปลูกข้าวไปตามยถากรรม ผิดพลาดเพราะไม่รู้ และไม่มีข้อมูล”

ทั้งนี้ในระยะสั้น ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือปัจจัยการผลิตแก่ชาวนาไร่ละ 3,000 บาท พื้นที่ไม่เกิน 30 ไร่ หรืออาจใช้วิธีแทรกแซงราคาข้าวตันละ 1.2 หมื่นบาทในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวรอบนี้ ไม่เช่นนั้นชาวนาจะอยู่ไม่รอด ส่วนระยะยาวภาครัฐต้องพัฒนาเกษตรกรใหม่ทั้งระบบ นอกจากนั้นการกำหนดนโยบายภาคเกษตรควรเปิดให้ตัวแทนเกษตรกรไปร่วมในคณะทำงานชุดต่างๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงจะได้แก้ปัญหาตรงจุด


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 มิถุนายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ